Give and Take
เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบในรอบหลายเดือนครับ เลยอยากจะมาแชร์กัน หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Give and Take” ชื่อภาษาไทยว่า “แค่รู้วิธีให้ คนรับได้เท่าไหร่ คนให้ได้มากกว่า” เขียนโดย Adam Grant ศาสตราจารย์จากโรงเรียนธุรกิจวาร์ตัน เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของ New York Times ปี 2013 โดยรวมๆแล้ว เนื้อหาในบทต่างๆจะมุ่งเน้นไปทางเดียวกันคือ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่น หรือ ผู้ให้ (Givers) โดยไม่หวังผลตอบแทน สุดท้ายแล้วจะได้รับมากกว่าที่ตัวเองให้ไป ฟังดูคล้ายคำสอนที่เราได้ยินมาอยู่เป็นประจำทำนอง ทำดีย่อมได้ดี, ฟ้ามีตา ใช่มั้ยครับ แต่ที่น่าสนใจคือ กรณีศึกษา, การทดลองและหลักฐานจากงานวิจัยต่างๆที่ผู้เขียนยกมาสนับสนุน เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้น (How) และเหตุผลทั้งในเชิงตรรกะและจิตวิทยา (Why) กรณีศึกษาต่างๆเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีรายละเอียดของตัวบุคคลและลำดับเหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงบทวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนแบ่งคนเป็นสามกลุ่ม คือ ผู้ให้ ผู้แลกเปลี่ยน และผู้รับ ซึ่งคนทั้งสามกลุ่มนี้มีทัศนคติแตกต่างกันอย่างชัดเจน และส่งผลมายังพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตและการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆที่ต่างกัน บทหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ เรื่องของการค้นหาและปลุกปั้นบุคลากร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนที่เป็นครู โค้ช หรือหัวหน้างาน สิ่งที่ต่างกันของโค้ชหรือครูที่เป็นผู้ให้คือ ผู้ให้จะไม่รอสัญญาณที่บ่งบอกถึงศักยภาพ เนื่องจากพวกเขาไว้ใจคนง่ายและมักมองโลกในแง่ดี จึงมีแนวโน้มที่จะเล็งเห็นศักยภาพในตัวทุกคน ในทางตรงกันข้าม ผู้รับมักรู้สึกสงสัยในเจตนาของผู้อื่น เพราะกลัวจะถูกเอาเปรียบ จึงไม่เต็มใจที่จะให้การสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พัฒนาตัวเอง ผู้แลกเปลี่ยนมีความเชื่อในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เมื่อเห็นว่าใครมีศักยภาพสูงก็พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ชอบเสี่ยง จึงพลาดโอกาสในการพัฒนาคนที่ไม่ได้แสดงศักยภาพออกมาในตอนแรก ฟังดูเหมือนจะโลกสวยเกินไปรึเปล่า อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในวงการวิชาการและวงการบาสเกตบอลที่ผู้เขียนได้ศึกษาและวิเคราะห์มา ทำให้ข้อสรุปเหล่านี้มีน้ำหนักขึ้นมาอย่างน่าสนใจ แน่นอนว่า บทสรุปของกรณีที่ผู้เขียนยกมาจบลงอย่างสวยงามด้วยชัยชนะของผู้ให้ และความล้มเหลวของผู้รับ ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมแล้ว ในชีวิตจริงก็คงมีอีกหลายกรณีนะครับ ที่ผู้ให้อาจจะไม่ได้มีฉากจบที่งดงามเหมือนกรณีที่ผู้เขียนยกมา แต่ผมเชื่อว่า อย่างน้อยระหว่างทางที่ผู้ให้เดินไป ทั้งตัวผู้ให้และคนรอบข้างก็คงได้รับสิ่งดีๆและสัมผัสถึงความรู้สึกดีๆที่ให้แก่กันตลอดเส้นทางที่เดินร่วมกัน มีอีกหลายบทที่มีเนื้อหาน่าสนใจมากๆ เช่น วิธีการให้โดยไม่ให้ถูกเอาเปรียบ, การรักษาพลังหรือความรู้สึกในการเป็นผู้ให้, พลังของเครือข่ายสายสัมพันธ์ ฯลฯ หลายๆย่อหน้าที่ผมอ่านด้วยความรู้สึกอิ่มเอมครับ อิ่มเอมในแง่ที่ว่า แนวคิดที่ผมเชื่อมาตลอดมีหลักฐานจากงานวิจัยมาสนับสนุนจริงๆจังๆ เคยมั้ยครับ ที่รู้สึกว่า บางครั้งคู่สนทนาของเราพูดในสิ่งที่เราอยากได้ยินเพราะเค้าต้องการเอาใจเรา หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ทำให้ผมรู้สึกคล้ายๆอย่างนั้น คือ เหมือนผู้เขียน Adam Grant อยากจะเอาใจผมเพราะเขียนในสิ่งที่ผมอยากจะอ่าน, เขียนในสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อของผม รู้สึกคล้ายๆครับ แต่มันรู้สึกดีกว่า ตรงที่ผมรู้ดีว่าเค้าไม่ได้มาเขียนเอาใจผมแน่ๆ Highly recommended ครับ อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีลเซ็นเตอร์
ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่11 ฉบับที่3/มีนาคม 2559 |