Big Data Analytics Big Data Analytics Person of interest เป็นซีรีส์อเมริกันเรื่องหนึ่งที่ผมติดตามมาตลอด เริ่มฉายมาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ที่กำลังฉายอยู่เป็นซีซั่นที่ 5 โครงเรื่องหลักคือ การป้องกันการเกิดอาชญากรรมของกลุ่มตัวเอก ซึ่งได้เบาะแสมาจากระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของรัฐบาล เบาะแสที่ได้นี้มาจากการเก็บข้อมูลจากการสื่อสารระหว่างกันของคนทั่วไปผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลเหล่านี้มาคัดกรอง ประมวลผล วิเคราะห์และส่งรายชื่อบุคคลที่น่าสงสัยออกมา โดยความตั้งใจแรกที่สร้างระบบคอมพิวเตอร์นี้เพื่อป้องกันการก่อการร้าย แต่กลุ่มตัวเอกเห็นว่าควรนำมาใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรมด้วย เนื้อเรื่องก็จะเกี่ยวกับการสืบสวนจากเบาะแสที่ได้ ขัดขวางความตั้งใจของคนร้ายเพื่อป้องกันอาชญากรรม มานึกย้อนกลับไปตอนผมดูครั้งแรกก็รู้สึกว่า ระบบนี้ออกจะเว่อร์ไปหน่อยนะ คอมพิวเตอร์อะไรจะทำได้ถึงขนาดนั้น ผ่านไปเพียงสี่ปี เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่า อุปกรณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันถูกเชื่อมต่อเข้ากับ internet ไปเสียหมด อะไรที่ไม่คิดมาก่อนว่าจำเป็นจะต้องใช้อินเตอร์เน็ตเช่น ทีวี ตู้เย็น นาฬิกา แว่นตา ฯลฯ รวมกับข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค จากฐานข้อมูลต่างๆ ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้สามารถนำใช้ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างมีระบบ จนตอนนี้รู้สึกว่า ถ้าอีกไม่กี่ปีจะมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์แบบในหนัง ผมคงไม่แปลกใจอะไร เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีมากมายมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกวินาที ทำให้ไม่สามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมฐานข้อมูลแบบเดิมๆได้อีกต่อไป ช่วงหลายปีมานี้จึงมีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Big Data Analytics คือ กระบวนการในการวิเคราะห์หารูปแบบและความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลมหาศาล เพื่อทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ระบบพวกนี้ที่เราเห็นๆกันอยู่ก็เช่น ระบบแนะนำสินค้าของเว็บไซต์เจ้าใหญ่ๆ หรือ พวก Social network เราจะเห็นว่า ทำไมบางที Amazon หรือ Facebook มาโฆษณาสินเค้าที่โดนเราพอดี ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสินค้าพวกนี้ถูกเลือกมาจากข้อมูลพฤติกรรม การเยี่ยมชมเวบไซต์ต่างๆ ประวัติการซื้อของที่ผ่านมาของเรา ฯลฯ ระบบเหล่านี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น Google, Microsoft ล้วนให้ความสำคัญและกำลังพัฒนาระบบของตัวเองอยู่ ที่น่าสนใจ คือ เรื่องนี้ครับ เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา บริษัท ฮิตาชิ ในญี่ปุ่น ได้ทดลองระบบป้องกันอาชญากรรม เรียกว่าHitachi Visualization Predictive Crime Analytics (PCA) ในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง ระบบนี้ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น สถิติอาชญากรรม การขนส่งมวลชน การพูดคุยในสังคมออนไลน์ ฯลฯ แล้วใช้ machine learning วิเคราะห์ข้อมูลออกมา เรียกว่าเป็นระบบทำนายอาชญากรรมล่วงหน้า คล้ายๆเรื่องๆ Minority Report ที่ทอม ครูซ แสดงนำ แต่ในหนังนั้นระบบทำนายอาชญากรรมเกิดขึ้นได้เพราะมีข้อมูลจากคนที่ทำนายอนาคตได้ แต่ระบบนี้มาจากการการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลในอินเตอร์เน็ต หลายๆอย่างที่เราเคยเห็นในหนังไซไฟอาจจะเป็นจริงในเวลาที่ใกล้กว่าที่คิดไว้มาก น่าสนใจนะครับว่า จะมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นในปี 2016 นี้อีก สวัสดีปีใหม่ครับ
อภิชาต ชยานุภัทร์กุล บจก. พีแอนด์เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่11 ฉบับที่1/มกราคม 2559
|