Win Win Win – Win เป็นความสนใจส่วนตัว ที่ผมชอบศึกษารูปแบบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะวิน-วิน ความหมายคือ เป็นการทำธุรกิจที่ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี โดยที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ผลลัพธ์ในลักษณะนี้ การทำธุรกรรมซื้อขายทั่วไป ไม่ได้เข้าข่ายนี้นะครับ เพราะ ถ้าคุณซื้อได้ถูก คนขายก็เสียผลประโยชน์คือได้กำไรน้อย ในทางกลับกัน ถ้าคนขายได้กำไรมาก คุณก็ต้องเสียมาก หักกลบลบหนี้แล้วผลประโยชน์รวมก็เหมือนเดิม ลักษณะวิน-วิน จะเกิดขึ้นได้จากการคิดค้นวิธีการใหม่ๆที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเดิมๆและเกิดประโยชน์ขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ถูกใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับวิถีชีวิตแบบเดิมๆในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน Ebay เป็นโมเดลธุรกิจที่ผมรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ เพราะ ระบบของอีเบย์ทำให้ทรัพยากรถูกนำมาใช้ได้เพิ่มขึ้นมหาศาล ผมเริ่มรู้จักอีเบย์ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่อเมริกา ช่วงประมาณปี 2001 ช่วงแรกๆนั้นอีเบย์เปิดให้โพสต์ฟรี หรือเก็บค่าธรรมเนียมน้อยมาก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์กับคนหนึ่งสู่มือคนที่ต้องการจริงๆ คนขายก็ได้เงินจากสิ่งที่ตัวเองทิ้งไว้เฉยๆ คนซื้อก็ซื้อได้ในราคาถูกกว่าราคาของใหม่มาก โดยหลักการมันก็คือตลาดขายของมือสองนี่แหละครับ เพียงแต่เป็นตลาดที่ใหญ่มากๆและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ท แต่เพียงแค่การเปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนของมือสองคงไม่เพียงพอที่จะทำให้อีเบย์เติบโตมาถึงจุดนี้ อีเบย์สร้างระบบขึ้นมาอีกหลายอย่างเช่น ระบบ feedback ทำให้เกิดการเชื่อใจกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย สร้างระบบธุรกรรมการเงินทำให้ซื้อขายสะดวกมากขึ้น ถึงแม้ต่อมาจะเติบโตจนเก็บค่าธรรมเนียมสูงมากและเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่านี่เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน เช่นเดียวกับ Google, Hotmail, Facebook, Strava พวกนี้เป็น Free service ที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับเทคโนโลยี ทำให้เกิดรูปแบบ วิน-วิน คือ ผู้ใช้ได้ใช้บริการฟรีในขณะที่ผู้ให้บริการก็ได้ข้อมูลของผู้ใช้ไปทำประโยชน์อื่นๆมากมาย เช่น ขายโฆษณา, ขายข้อมูลการตลาด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่า ที่น่าสนใจกว่าคือ โมเดลวิน-วิน ที่ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่เกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆในการจัดการขึ้นมา เช่นตัวอย่างนี้ครับ ที่รัฐแมสซาซูเซตส์, สหรัฐอเมริกา มีปัญหาสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของมากมาย ซึ่งพวกมันก็จะถูกนำไปสถานกักกันรอผู้อุปการะ ปัญหาคือมีผู้รับอุปการะน้อยมาก ซึ่งก็เข้าใจได้นะครับ เพราะสุนัขพวกนี้คงไม่ได้น่ารักน่าเลี้ยงเหมือนที่ขายตามร้าน เมื่อมีจำนวนมากเกินสุนัขเหล่านี้ก็จะถูกนำไปกำจัดโดยการฉีดยาให้ตาย อัศวินขี่ม้าขาวงานนี้คือ องค์กรการกุศล ชื่อ Don’t Throw Us Away ซึ่งมีความคิดว่า ควรจะหาคนที่มีมาช่วยเลี้ยงมันโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก และก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่า คนกลุ่มที่จะไม่ต้องจ้างและมีเวลาเยอะๆ คือ นักโทษในเรือนจำ วิธีการคือ เอานักโทษแต่ละคนมาจับคู่กับสุนัขหนึ่งตัวและใช้ชีวิตร่วมกัน ตั้งแต่ทำความสะอาด ฝึกสุนัข ให้อาหาร พาไปเดินเล่น เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลที่ได้นั้นน่าทึ่งมาก เพราะไม่เพียงแต่นักโทษจะช่วยสุนัข แต่สุนัขเองก็ช่วยนักโทษเช่นกัน สุนัขทำให้นักโทษมีเพื่อนใหม่, สุขภาพจิตดีขึ้น, รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและสามารถปรับตัวให้พร้อมกับการกลับสู่สังคมได้ง่ายขึ้น ส่วนสุนัขเองนอกจากจะมีคนมาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดแล้วหลังจากโปรแกรม 8 สัปดาห์ก็สามารถปฏิบัติตามคำสั่งพื้นฐานได้และดูสะอาดน่าเลี้ยงมากขึ้นทำให้หาผู้อุปการะได้ง่ายขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดระบบวิน-วินแบบนี้นี่แหละ คือ สิ่งที่โลกเราทุกวันนี้ต้องการเยอะๆครับ ดร. อภิชาต ชยานุภัทร์กุล บจก. พีแอนด์เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่10 ฉบับที่12/ธันวาคม 2558
|