ศรัทธากับความจริง ศรัทธากับความจริง เมื่อเร็วๆนี้ (ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2558) มีข่าวไฟไหม้ปริศนาร้อยกว่าครั้งในบ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดพัทลุง ข่าวออกมาทำนองว่า เป็นเหตุการณ์น่าพิศวง ไฟปริศนาลุกติดขึ้นมาเอง และทุกครั้งเด็กในบ้านอายุ 2 ขวบจะเป็นคนชี้จุดไฟไหม้ทุกครั้ง นักข่าวก็แห่กันไปทำข่าวและหาทางพิสูจน์ ซึ่งท้ายสุดก็พบว่าเป็นคนในบ้านจุดเอง ด้วยเหตุผลอะไรก็สุดจะเดา ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปหลักฐานว่าคนในบ้านเป็นคนจุด (แม่เด็ก) ชาวบ้านแถวนั้นและ คนในสังคมกลุ่มหนึ่งก็ยังไม่เชื่อว่า เป็นฝีมือมนุษย์ บ้างก็เชื่อว่า เป็นเรื่องไสยศาสตร์ บ้างก็เชื่อว่าถูกกลั่นแกล้งจากนักข่าว ที่ผมว่าน่าสนใจ คือ พลังความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่อยู่เหนือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และที่มาที่ไปของความเชื่อนี้จนถึงผลกระทบในบริบทของสังคมศาสตร์ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเมื่อหลายปีก่อนที่มีนักศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องย่าโม โดยศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากฝั่งลาวประกอบด้วยและสรุปว่า ย่าโมไม่น่ามีตัวตนอยู่จริง หรือถ้ามีก็ไม่ได้มีวีรกรรมอย่างที่เล่าต่อๆกันมา ประวัติย่าโมน่าจะถูกเขียนขึ้นในสมัยจอมพล ป. นี่เอง ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกจำหน่าย แต่ปรากฏว่า ถูกโจมตีอย่างหนักจากชาวโคราชที่ศรัทธาในตัวย่าโม จนภายหลังถึงกับต้องเก็บหนังสือออกจากแผงและผู้เขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นชาวโคราชถึงขั้นต้องออกจากพื้นที่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยทำนองนี้มีอีกหลายเรื่องนะครับ เช่น นางนพมาศ พระศรีสุริโยทัย ชาวบ้านบางระจัน หรือแนวตำนานชาวบ้านอย่างแม่นาคพระโขนง เรื่องพวกนี้มีหลักฐานพอจะให้เชื่อได้ว่า ไม่มีจริง หรือ มีจริงก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เล่ากันมาแต่เดิม นักประวัติศาสตร์นั้นเมื่อมีหลักฐานใหม่ๆมาหักล้างในเชิงวิชาการก็วิเคราะห์หาข้อสรุปใหม่กันไปตามหลักฐาน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เชื่อกันไปแล้ว ไม่ว่าจะยกหาหลักฐานอะไรมาชี้แจงก็จะมีเหตุผลของตัวเองมาปฏิเสธได้หมด เรียกว่า ขอเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ อันที่จริง ผมเปรียบเทียบกรณีไฟปริศนากับย่าโมนี่อาจจะไม่ค่อยเหมือนกันซะทีเดียว เพราะกรณีย่าโม อาจจะมองในแง่บวกได้ว่า ถึงจะเป็นเรื่องแต่งแต่ก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างพลังใจให้ชาวบ้านที่มีศรัทธาสามัคคี ทำความดี ฯลฯ ซึ่งเป็นความเชื่อที่(น่าจะ)ส่งผลดีต่อสังคม แต่กรณีไฟปริศนาและความเชื่อพวกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น พญานาค ช้างน้ำ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ พวกนี้ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เรื่องที่ต้องแก้ไขก่อนเลยคือ การให้ความรู้การศึกษา การหลงผิดหลงเชื่อสิ่งงมงายพวกนี้ก็น่าจะลดลงไปบ้าง และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างทัศนคติที่พร้อมจะเปิดรับความคิดเห็นและหลักฐานใหม่ที่อาจจะหักล้างความเชื่อเดิมของตนเอง ผมเชื่อว่า หากสังคมบ้านเราสามารถปรับปรุงข้อเสียตรงนี้ได้ จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาหลายๆด้านได้อย่างก้าวกระโดดทีเดียวครับ อภิชาต ชยานุภัทร์กุล บจก.พีแอนด์เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์
ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่10 ฉบับที่5/พฤษภาคม 2558 |