จริยธรรมในธุรกิจ จริยธรรมในธุรกิจ ช่วงปลายเดือนกันยายนมีข่าวใหญ่ในวงการรถยนต์ ซึ่งสำหรับผมแล้วคิดว่า เป็นข่าวที่น่าเหลือเชื่อเอามากๆ ข่าวที่ว่าคือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ดีเซลยี่ห้อ Volkswaken และ Audi ได้ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้ผ่านการทดสอบการปล่อยควันพิษตามที่กฎหมายกำหนดโดยใช้ซอฟแวร์หลอกเครื่องทดสอบ แต่ความจริงแล้วกลับปล่อยควันพิษสูงกว่าที่กำหนดถึง 35-40 เท่า อุปกรณ์ที่ว่านี้ติดตั้งในรถเครื่องยนต์ดีเซล รวม 500,000 คัน เฉพาะในอเมริกา มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่า อุปกรณ์นี้ได้ถูกติดตั้งในรถยนต์ที่ขายในประเทศอื่นๆด้วยหรือไม่ ที่ยอมรับกันไม่ได้เลยคือ นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อ แต่เป็นความตั้งใจที่จะหลอกเครื่องทดสอบโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก น่าเหลือเชื่อว่า บริษัทระดับโลกที่มีชื่อเสียงมายาวนานขนาดนี้จะทำอะไรที่ขาดจริยธรรมได้ขนาดนี้ เรื่องมาแดงขึ้นหลังจากที่ วิศวกรคนหนึ่งที่ทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไร เข้ามาศึกษามาตรฐานการตรวจสอบควันพิษของอเมริกาและยุโรป เมื่อจำนนด้วยหลักฐาน CEO ของโฟล์คก็ออกมายอมรับว่า ทำผิดจริงโดยเจตนาอย่างที่กล่าวหาทุกประการ และขอรับผิดชอบโดยการลาออก หลังจากที่มีการยอมรับ หุ้นของโฟล์คก็ร่วงไปถึง 20% และอีกไม่กี่วันก็ร่วงลงไปกว่า 40% ที่สำคัญ โฟล์คยังถูกฟ้องร้องโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมของอเมริกาหรือ EPA (Environmental Protection Agency) เป็นมูลค่ามหาศาลซึ่งอาจสูงถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 648,000 บาท) นอกจากนี้ ยังอาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญาอีกด้วย เนื่องมาจากความเสียหายจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของรถโฟล์คหลายล้านคัน อันที่จริงแล้ว กรณีคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นในปี 1998 เมื่อบริษัท Caterpillar และ บ. Cummins ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับอุตสาหกรรมหนักได้ติดตั้งอุปกรณ์หลอกเครื่องทดสอบควันพิษเพื่อให้ผ่านการทดสอบ สิ่งที่ต่างกันคือ ในกรณีนั้น เครื่องยนต์ของ Caterpillar ปล่อยควันพิษสูงกว่าที่กำหนดเพียง 3 เท่า แต่กรณีของโฟล์คคราวนี้หนักหนากว่ามากคือสูงกว่ามาตรฐานถึง 40 เท่าและในครั้งนั้นถึงแม้จะถูกพิสูจน์ว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์หลอกจริงแต่ทาง Caterpillar ไม่ยอมรับว่า ทำผิดโดยตั้งใจแต่ก็จ่ายค่าปรับไปร่วมหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องจำนวนเงินก็ชดใช้กันไป แต่ชื่อเสียงที่เสียไปแล้วคงยากที่จะกู้คืน น่าสนใจครับว่า บริษัทใหญ่อย่างโฟล์คจะรอดพ้นจากวิกฤติคราวนี้ไปได้อย่างไร และกรณีนี้คงเป็นอุทาหรณ์ให้หลายๆองค์กรได้เป็นอย่างดีในการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร ความซื่อสัตย์และสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็เป็นสิ่งจำเป็นเสมอครับ ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พีแอนด์เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่10 ฉบับที่10/ตุลาคม 2558 |