Internet of Things (IoT) Internet of Things (IoT) ช่วงปีสองปีมานี้ ในแวดวง IT คำว่า Internet of Things เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ มันคืออะไร และสำคัญอย่างไร Internet of Things คือ ระบบเครือข่ายของอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน เพื่อนำเอาข้อมูลนี้ไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสิ่งของเหล่านั้น และยังสามารถควบคุมได้จากระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ณ วันนี้ เราอาจจะคุ้นเคยกับแค่ smart phone ที่เชื่อมต่อกันได้ในลักษณะนั้น อาจจะมีอุปกรณ์อื่นๆที่เริ่มจะผ่านตามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โทรทัศน์, Wearables สำหรับออกกำลังกาย ซึ่งก็ยังถือว่ามีไม่มากนัก แต่ IoT จะรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เราเห็นและใช้กันอยู่ทุกวัน เช่น บ้าน รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รองเท้า แว่นตา ฯลฯ บางคนอาจจะนึกไม่ออกว่า ข้าวของเครื่องใช้พวกนี้มี IoT แล้วมันจะดีอย่างไร ลองนึก Smart home ที่อุปกรณ์ภายในบ้านเชื่อมต่อกับ IoT ดู เราสามารถเปิดแอร์ไว้ก่อนที่จะขับรถถึงบ้านเพื่อให้แอร์เย็นพอดี พอถึงบ้านก็มีระบบควบคุมแสงสว่างอัตโนมัติ สามารถให้เปิดปิดตามสภาพแสงหรือเวลาประตูเปิดปิด สามารถเรียกดูข้อมูลสถิติการใช้ไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆภายในบ้านได้ หรือแม้แต่ของเล็กๆน้อยๆอย่าง Smart Egg Tray ที่ส่งข้อมูลไปยัง Smart Phone ได้ว่ามีไข่เหลืออยู่กี่ฟอง, Smart Toothbrush ซึ่งสามารถเตือนผู้ใช้ได้ว่า กำลังแปรงแรงเกินไป, แปรงไม่ถูกต้อง และสามารถบันทึกข้อมูลการแปรงฟันให้หมอฟันดูได้ อุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในระบบ IoT นี้ แทบจะทั้งหมด จะมี sensor เพื่อทำงานโดยอัตโนมัติและจัดเก็บข้อมูลเพื่อส่งไปประมวลผลและวิเคราะห์ ส่วนจะเป็น sensor อะไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ เช่น ระบบไฟแสงสว่าง อาจจะมี motion sensor ที่จะทำงานเมื่อมีการเคลื่อนไหว, ระบบ Sprinkler ที่มี weather sensor ตรวจสภาพอากาศ, บ้านที่ติด moisture sensor สำหรับตรวจสอบการรั่วไหลของระบบน้ำ ฯลฯ ในปัจจุบัน IoT เติบโตอย่างรวดเร็วในแทบทุกๆวงการ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม วงการแพทย์ ทหาร ระบบขนส่ง ฯลฯ มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่อยู่ในระบบ IoT ถึง 5 หมื่นล้านชิ้น ซึ่งจะแซงหน้าอุปกรณ์ IT ทุกอย่างที่เคยมีมาเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะอุปกรณ์ IoT นี้ก็แทบจะครอบคลุมไปถึงกิจกรรมทุกอย่างๆในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้เป็นเรื่องที่อันตรายมากหากมีการล้วงข้อมูลออกไปได้ ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันที่ต้องถูกพัฒนาไปพร้อมๆกัน ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่10 ฉบับที่7/กรกฏาคม 2558 |