
พลังแห่งการลืม พลังแห่งการลืม ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ในการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หากเรารู้วิธีการเรียนศาสตร์นั้นๆที่เหมาะกับตัวเอง จะทำให้เราเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากๆ ผมตั้งข้อสังเกตว่า คนเก่งๆรอบตัวผม ซึ่งบ้างก็หัวดีเป็นทุนเดิม บ้างก็เก่งจากความมานะพยายาม หรืออาจจะทั้งสองอย่าง แต่ไม่ว่าจะเก่งจากแบบไหน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีทักษะในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในศาสตร์ที่เขาสนใจ เขาจะรู้ดีว่า ทำอย่างไรถึงจะถึงเป้าหมายด้วยวิธีในแบบของเขาเอง วิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่ง แต่ละคนจึงต้องหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง การค้นหาวิธีการเรียนศาสตร์แขนงต่างๆที่เหมาะกับตัวเองนี่แหละครับ ที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ฝึกฝนและพัฒนากันได้ ฉะนั้น ด้วยตัวของมันเองแล้ว ทักษะการค้นหาและเรียนรู้วิธีเรียนจึงควรจะเป็นวิชาที่มาสอนมาเรียนกันได้ ผมลองค้นหาคำที่มีความหมายประมาณนี้ เช่น learn how to learn ในอินเตอร์เน็ตก็พบว่า วิชาแบบนี้มีเปิดสอนอยู่บ้างเหมือนกันในต่างประเทศ และมีหนังสือที่น่าจะเข้าข่ายทักษะที่ว่านี้อยู่พอสมควร ครั้นจะไปลองเรียนถึงโน่น ด้วยสถานภาพคงไม่อำนวย ก็ได้แต่สั่งหนังสือมาลองอ่านดูอยู่ 3-4 เล่ม โดยเลือกจากคะแนนรีวิวใน amazon เป็นหลัก อ่านไปบ้างแล้วก็อยากจะมาแชร์ข้อมูลกันครับ ช่วงนี้ผมกำลังอ่าน How We learn เขียนโดย Benedict Carey เล่มนี้เขียนเกี่ยวกับการทำงานของสมอง การทดลองและการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับสมอง หลังจากนั้นก็จะพูดถึงการพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ เพื่อที่จะดึงเอาประสิทธิภาพจากสมองให้มากที่สุด มีบทหนึ่งน่าสนใจครับ จึงอยากจะเอามาคุยกันสั้นๆตามที่จั่วหัวข้อไว้- พลังแห่งการลืม ออกจะน่าแปลกใจอยู่สักหน่อยนะครับ ถ้าจะบอกว่า การลืม นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตพอๆกับ การจำ เรามักจะมองการลืมในแง่ลบ เพราะบ่อยครั้งการลืมทำให้เกิดความเสียหาย หรือ ในการแข่งขันก็มีแต่แข่งกันจำไม่มีการแข่งกันลืม แต่อันที่จริงแล้วการลืมเป็นกลไกจากวิวัฒนาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยคร่าวๆ ประโยชน์ของมันก็คือเป็นตัวกรองข้อมูลที่สมองมองว่าไร้สาระออกไป และเป็นการเตรียมตัวสำหรับโอบรับสิ่งใหม่ๆเพื่อที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ย้อนกลับไปในช่วงปี 1880 มีการทดลองเรื่องความจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความจำกับเวลา โดยวิธีทดลองคือ ให้ผู้ร่วมทดลองจำคำต่างๆที่ไม่มีความหมายจำนวนหนึ่ง หลังจากหมดเวลาจำ ก็ให้เขียนคำที่จำได้ โดยทิ้งช่วงเวลาที่ให้เขียนจากยี่สิบนาทีหลังการจำ, หนึ่งชั่วโมง, หนึ่งวัน, หนึ่งสัปดาห์ ฯลฯ ซึ่งผมก็เป็นไปตามคาดคือ คะแนนที่ได้น้อยลงเรื่อยๆ แต่การค้นพบในปี 1913 บอกอะไรที่แตกต่างไป การทดลองในลักษณะคล้ายๆกัน ต่างกันที่ สิ่งที่ให้จำคือ บทกลอน ที่มีความไพเราะ และผ่อนคลาย ผลคือ เวลาผ่านไปสี่วัน ผู้เข้าร่วมทดลองสามารถจำได้มากกว่าทดสอบหลังจำทันที และยิ่งดีขึ้นอีกในครั้งถัดไป ผลการทดลองทั้งสองแบบนั้นให้ผลขัดกันเอง จึงทำให้ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด หลังจากผ่านการทดลองมากมาย ในช่วง 1980 นักวิจัยก็ค้นพบตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผลออกมาต่างกัน นั่นคือ “สิ่งที่ให้จำ” สมองเราจะจำสิ่งที่ควรค่าแก่การจำ การที่จะจำได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสองปัจจัย คือ ความสามารถในด้านการเก็บรักษา (Storage strength) และในด้านการเรียกความจำกลับมา (Retrieval strength) ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ในสมอง แต่ความสามารถในการเก็บรักษาและ การเรียกคืนนั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 1. ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อสิ่งนั้น(Storage Strength) และ 2. ความเร็วหรือความง่ายที่ข้อมูลนั้นจะแว่บขึ้นมาในสมอง (Retrieval Strength) ซึ่งหากเป็นข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์กับเรา การตอบสนองของสมองทั้งสองด้านนี้ต่อข้อมูลนั้นจะอยู่ในระดับต่ำมากๆ ในการทดลองครั้งแรกที่ให้จำคำที่ไม่มีความหมาย สมองจะมองว่าเป็นขยะ เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ผลที่ได้จึงออกมาว่า ยิ่งเวลาผ่านไปความจำเกี่ยวกับสิ่งนั้นจึงยิ่งน้อยลง แต่ในกรณีของการจำบทกวีนั้น บทกวีเป็นสิ่งที่สมองว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และในการทำสอบแต่ละครั้งก็เหมือนกับการได้ฝึกให้สมองพยายามเค้นความจำจากสิ่งที่เก็บไว้อยู่เรื่อยๆ ทำให้ผลการสอบครั้งหลังๆดีขึ้นเรื่อยๆ การเรียนรู้กลไกของสมองในลักษณะนี้นี่แหละครับ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเทคนิคต่างๆในการเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์เรามากที่สุด ไว้มีโอกาสมาคุยกันต่อครับ อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่10 ฉบับที่2/กุมภาพนธ์ 2558
|