ไมอีลิน
บ่อยครั้งที่ผมเห็นคนเก่งๆแล้วอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ความเก่งของเค้ามาจากการฝึกฝนหรือพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด - ทำไมคนพวกนี้ดูเหมือนจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ผมมักจะคิดอยู่เสมอว่า คนพวกนี้ต้องรู้วิธีเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ หาวิธีฝึก วิธีเรียนที่จะทำให้ตัวเองพัฒนาได้เร็วที่สุด แต่ไม่รู้ว่า เค้าหาวิธีเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่า มันน่าจะมีอะไรบางอย่างมาอธิบายได้ หนังสือที่ผมอ่านเล่มล่าสุด The Talent Code ให้คำตอบกับผมในเรื่องนี้ได้พอสมควรเลยทีเดียว เลยขออนุญาตเอามาเล่าสู่กันฟังนะครับ หลักฐานจากการศึกษาในระยะหลังๆเชื่อว่า ทักษะต่างๆที่ดูเหมือนว่าต้องใช้พรสวรรค์นั้นสามารถฝึกฝนกันได้ แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างถูกวิธี และแนวทางการฝึกก็แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับทักษะแต่ละประเภท แต่กลไกที่ทำให้ทักษะต่างๆพัฒนาขึ้นมานั้นอยู่ที่ส่วนประกอบหนึ่งในระบบประสาทของเราที่เรียกว่า ไมอีลิน (Myelin) ทักษะทุกอย่างของเรานั้นทำงานผ่านระบบประสาท โดยการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายใยประสาทไปสู่สมองและส่วนต่างๆของร่างกาย หากเปรียบเครือข่ายเหล่านี้เป็นสายไฟ ไมอีลินก็เปรียบเสมือนฉนวนที่ห่อหุ้มสายไฟ คอยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกไป ยิ่งไมอีลินหนามาก ก็ยิ่งป้องกันสัญญาณรั่วไหลได้มาก ทำให้การส่งสัญญาณนั้นเร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น ซึ่งก็คือการเพิ่มระดับทักษะของเรานั่นเอง ไมอีลินสามารถเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิตแต่จะเพิ่มมากในวัยเด็ก สิ่งที่จะทำให้ไมอีลินเพิ่มขึ้นได้คือ การฝึกฝนที่ลึกล้ำ โดยผ่านช่วงเวลาการบ่มเพาะที่ยาวนาน หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างกรณีคนเก่งๆมากมายที่ถูกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะ และดูเหมือนว่า คนเหล่านี้จะมีพรสวรรค์มาแต่กำเนิด แต่อันที่จริงแล้วหากศึกษาลึกลงไปจะพบว่า พวกเขาผ่านการฝึกฝนมาอย่างยาวนานและที่สำคัญด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้พวกเขาเป็นเลิศในด้านนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในยุคเรอเนสซองซ์ ที่มีศิลปินระดับโลกเกิดขึ้นมากมายในเมืองเล็กๆชื่อฟลอเรนซ์ ซึ่งหากจะอธิบายว่า อัจฉริยะหลายๆคนมาเกิดพร้อมกันในเวลาใกล้ๆกันคงไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อันที่จริงแล้วในยุคนั้น ศิลปินเหล่านี้ผ่านการฝึกฝนงานช่างผ่านระบบเครือข่ายในสมาคมช่างกันเองจนฝีมือพัฒนาขึ้นมาก ระบบเครือข่ายนี้เป็นหัวใจในการถ่ายทอดวิชาและแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งล่มสลายไปในเวลาต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ไม่ปรากฏศิลปินระดับโลกมากมายเหมือนในช่วงเวลาก่อนหน้าอีก ทุกครั้งๆที่ฝึกจะต้องทุ่มเทพลังงานและสมาธิอย่างเต็มที่ การฝึกฝนที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่นั้นถึงแม้จะใช้เวลามากมายก็ไม่ได้ผลเท่ากับการฝึกฝนอย่างลึกล้ำในเวลาสั้นๆ การฝึกฝนที่ลึกล้ำเป็นการการฝึกเพื่อเพิ่มทักษะทีละนิด ในแต่ละครั้งเราต้องฝึกจนสุดขอบความสามารถที่เรามี นี่คือหัวใจสำคัญที่จะกระตุ้นให้ไมอีลินเพิ่มขึ้นได้มากที่สุด คล้ายกับนักเพาะกายที่ต้องการเพิ่มขนาดกล้ามเนื้อ ในการฝึกแต่ละครั้งอาจจะยกน้ำหนักเพิ่มได้ทีละนิดหรืออาจจะเพิ่มไม่ได้เลย แต่ที่สำคัญคือ จะต้องยกให้หนักที่สุดเท่าที่จะยกได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มี เมื่อกล้ามเนื้อเรียนรู้ว่าที่มีอยู่นั้นไม่พอที่จะยกน้ำหนักขนาดนั้น มันก็จะเพิ่มขนาดขึ้นมีอีกนิด สะสมมากเข้า นานวันเข้าก็จะสามารถยกน้ำหนักมากๆได้โดยไม่รู้ตัว วันแล้ววันเล่า แต่ละก้าวย่างบนเส้นทางการฝึกจนสุดขอบ คือช่วงเวลาบ่มเพาะทักษะที่คนที่เป็นเลิศเหล่านั้นต้องผ่านมาก่อนทั้งสิ้น หนังสือยกตัวอย่าง นักฟุตบอลบราซิล ที่มีคนเก่งๆมากมายเพราะพวกเค้าเล่นฟุตซอล เตะบอลข้างถนนกันมาก่อน ซึ่งฟุตบอลในสนามเล็กๆแบบนั้นเหมือนเป็นการบังคับให้ต้องใช้ความแม่นยำและความเร็วมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นการกระตุ้นไมอีลินอย่างดีเยี่ยม นอกจากเรื่องการฝึกฝนแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงการจุดประกายที่จะทำให้เกิดความหลงใหลในสิ่งที่ทำ ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง สรุปแล้วเป็นหนังสือที่น่าอ่านนะครับ น่าจะเอาไปประยุกต์ใช้กับทักษะด้านต่างๆของเราได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าสนใจก็ลองหาอ่านได้ตามร้านหนังสือทั่วไปครับ ชื่อภาษาไทยว่า รหัสลัดอัจฉริยะ โดย Daniel Coyleดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พีแอนด์เอส สเตนเลสสตีลเซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลสปีที่9 ฉบับที่3/มีนาคม 2557 |