พัฒนาการของ Metal 3D printer ฉบับนี้ขออัพเดทความคืบหน้าของ 3D printer สำหรับโลหะ ที่เคยเขียนถึงไปเมื่อต้นปีครับ นับตั้งแต่มีเทคโนโลยี Metal 3D printing กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถือเป็นกลุ่มผู้นำในการใช้เทคโนโลยี metal 3D printing โดยนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับสร้างอวัยวะเทียมและงานทันตกรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ราคาเครื่องค่อนข้างสูงและผลิตงานได้ช้า จึงยังไม่มีการนำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมมากนัก ผู้ผลิตรถยนต์นับเป็นผู้ผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ให้สนใจในเทคโนโลยีนี้มาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อยู่บ้าง แต่ก็เพื่อสร้างงานต้นแบบเพื่อลดเวลาในการออกแบบและทดสอบเสียมากกว่า แต่ในปี 2014 นี้ บริษัท Siemens จะเป็นบริษัทระดับโลกบริษัทแรกที่ใช้ 3D printer ในการผลิตชิ้นส่วนสำรองสำหรับเครื่องยนต์กังหันก๊าซ (Gas Turbine) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ซึ่งจะทำให้ลดเวลาในการซ่อมแซมจาก 44 สัปดาห์เป็น 4 ชั่วโมง GE ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ให้ความสนใจในเทคโนโลยีนี้ โดยมีแผนว่า ตั้งแต่ปี 2016 บริษัท GE aviation จะเริ่ม print นอซเซิลสำหรับเครื่องยนต์ในเครื่องบินโบอิ้ง 747 และแอร์บัส A320 และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 จะผลิตถึง 100,000 ชิ้น ซึ่งนอซเซิลที่ได้จากการ print นี้จะมีอายุยาวนานกว่านอซเซิลแบบเดิมถึง 5 เท่าและมีน้ำหนักน้อยลง 75% อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ GE กล่าวว่า เวลาที่ใช้การผลิตงานยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญ หากชิ้นงานมีหลากหลายรูปแบบและมีจำนวนน้อย 3D printer จะทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมาก แต่หากต้องผลิตชิ้นงาน 10,000 ชิ้นเหมือนๆกัน การผลิตด้วยการหล่อและมิลลิ่งยังเร็วกว่ามาก ในด้านราคาค่าตัวก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ คือ มีแนวโน้มจะถูกลงเรื่อยๆ เมื่อมีการผลิตจำนวนมากขึ้น และมีการประดิษฐ์คิดค้นวิธีที่จะผลิตให้ถูกลง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (ธ.ค. 2013) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ประดิษฐ์เครื่อง Metal 3D printer ที่มีราคาต่ำกว่า $1500 โดยใช้เครื่องเชื่อม MIG และควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการ Linux รายละเอียดในของเครื่องนี้ได้ตีพิมพ์ลงเป็นบทความวิชาการสำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป แน่นอนว่า เครื่อง 3D printer จากห้องแล็บนี้คงจะไม่ได้ดีเท่าเครื่องราคาแพงแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้สนใจที่สามารถเอาไปต่อยอดได้มากมาย จุดหนึ่งที่มีการพูดถึงขึ้นมาคือ เมื่อ 3D printer มีราคาถูกและหาได้ง่าย จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและนำไปสู่อาชญากรรมมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการ print ปืนและอาวุธต่างๆ เรื่องผลกระทบต่อความปลอดภัยก็คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป แต่ปืนที่ print จากเครื่อง 3D printer ใช้งานจริงแล้วเป็นอย่างไร คำถามนี้คำตอบแล้วครับ เมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย. 2013) บริษัท Solid Concepts ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและออกแบบ 3D printer ได้ทดลอง print ปืนพกกึ่งอัตโนมัติรุ่น M1911ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นปืนโลหะกระบอกแรกของโลกที่สร้างขึ้นจาก 3D printer (ก่อนหน้านี้เป็นการ print ปืนพลาสติก) และได้มีการทดสอบปืนด้วยการยิงกระสุนจริงเกือบสองพันนัด ซึ่งผลปรากฏว่า ปืนกระบอกนี้ใช้งานได้เป็นอย่างดี คอยติดตามกันต่อไปนะครับสำหรับเทคโนโลยีนี้ ผมคิดว่า อีกไม่นานคงได้เห็นการนำมาใช้ในบ้านเราแล้วล่ะครับ
อ้างอิง http://www.solidconcepts.com/news-releases/3d-printed-metal-gun-will-sell-lucky-100/
http://mashable.com/2013/11/11/3d-printed-metal-gun/
http://gizmodo.com/you-could-build-this-metal-3d-printer-for-1-500-1475593603
ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์
ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 9 ฉบับที่ 1/ มกราคม 2557
|