3D Printer ในเชิงวิศวกรรมนั้น มีเทคโนโลยีอยู่ไม่กี่อย่างที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาสั้นมากๆ และช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ มีเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้าข่ายนี้และกำลังเป็นที่น่าจับตาอย่างมากเพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายวงการ ผมกำลังพูดถึงเทคโนโลยี 3D Printing นั่นเองครับ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ในงาน Metalex ผมเห็นเครื่อง 3D Printer เครื่องขนาดไม่ใหญ่นักสามารถ Print แบบจำลอง3D รูปพระนั่งสมาธิ สูงประมาณ 20cm ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดออกได้ค่อนข้างมากทีเดียว วัตถุดิบที่ใช้ในการ print ที่ผมเห็นนั้นน่าจะเป็นวัสดุประเภทโพลีเมอร์หรือพลาสติก ยังคิดอยู่ในใจว่า ถ้า 3D Printer สามารถพรินต์งานออกมาเป็นโลหะได้นี่ อาจจะทำให้กระบวนการผลิตในบางอุตสาหกรรมล้มหายกันไปเลยทีเดียว อันที่จริงแล้ว 3D printer ที่สามารถ print โลหะได้ก็มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่กระบวนการพรินต์นั้นค่อนข้างยุ่งยาก ทว่าล่าสุด ในงาน MDM 2013 ซึ่งเป็นงาน บริษัท EOS ของเยอรมันได้เปิดตัว 3D printer ที่ print งานโดยการ ใช้หัวเลเซอร์เชื่อมผงโลหะ สร้างงานทีละเลเยอร์ จนฟอร์มตัวขึ้นมาเป็นงาน 3D วิธีนี้เรียกว่า Selective Laser Sintering เลเยอร์แต่ละเลเยอร์นี้จะบางมาก อยู่ในระดับ 20-30 ไมครอนเท่านั้น ตัว printer สามารถสร้างชิ้นงานโลหะได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอลูมิเนียม สเตนเลส ไททาเนียม
ตัวอย่างงานโลหะจากเครื่อง 3D printer ในส่วนของการประยุกต์ใช้ 3D printing สามารถนำไปใช้ได้หลายวงการ โดยมากมักจะนำไปเป็นต้นแบบในการออกแบบ/ทดลอง/ผลิต หรือทำเป็นแม่พิมพ์เพื่อนำไปผลิตชิ้นงานที่ต้องการผลิตเป็นจำนวนมากๆอีกที ในส่วนของการประยุกต์ใช้งานนั้นหลากหลายมากครับ อาทิเช่น วิศวกรสามารถนำไปใช้ทำชิ้นส่วนต้นแบบเพื่อดูว่า ชิ้นงานที่ออกแบบไว้มีขนาดและคุณสมบัติที่เหมาะสมในเชิงวิศวกรรมหรือไม่, สถาปนิกสามารถพรินท์แบบจำลองบ้าน/อาคาร โดยมีรายละเอียดครบถ้วนให้ลูกค้าดูได้อย่างง่ายดายด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าวิธีเดิมๆมาก ทันตแพทย์สามารถสร้างแบบจำลองฟันของคนไข้ด้วยการสแกนช่องปากและฟันและส่งไฟล์ให้เครื่องพรินต์ออกมา ในวงการแพทย์ สามารถนำไปใช้ทำแบบจำลองกระดูก หรืออวัยวะเทียมได้ หรือแม้แต่จะทำชิ้นส่วนเล็กๆในนาฬิกา หรือ พวกเครื่องประดับ Jewelry ก็สามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ผมเพิ่งได้คุยกับลูกค้าท่านหนึ่งที่อยู่วงการทำแม่พิมพ์รถยนต์ ลูกค้าท่านนี้บอกว่า บางครั้งก็ต้องมีการไปว่าจ้างให้บริษัทภายนอกพรินท์งาน 3D ของชิ้นส่วนรถยนต์(ทำจากเรซิ่น) เหมือนกัน เนื่องจากรูปชิ้นงานที่เห็นในจอคอมยังไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้ทั้งหมด ตลาด 3D printer เติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้เครื่อง printer มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในด้านความเร็วและความละเอียด รวมไปถึงราคาที่ถูกลง ผมเชื่อว่า อีกไม่กี่ปี เราคงเห็นอะไรหลายๆอย่างที่มีผลมาจากเทคโนโลยีนี้แน่ๆครับ
ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล
บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์
ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 8 ฉบับที่ 85/ เมษายน 2556
อ้างอิง: http://www.explainingthefuture.com/3dprinting.html http://en.wikipedia.org/wiki/3D_printing http://www.democraticunderground.com/10022135553
|