Tablet กับการใช้งานในองค์กร ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะไปเดินห้าง ขึ้นรถไฟฟ้า นั่งร้านอาหาร เราจะเห็นคนใช้ iPad หรือ tablet กันเป็นเรื่องปกติ ไม่ทราบท่านผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่านะครับว่า ภาพที่คุ้นตาเหล่านี้เหมือนเราเห็นมายาวนานหลายปี ถ้าท่านรู้สึกอย่างผม ก็คงจะรู้สึกประหลาดใจกับความจริงที่ว่า iPad รุ่นแรกเพิ่งจะเปิดตัวเมื่อสองปีที่แล้วนี้เอง (ในเมืองไทยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2010) ตามมาด้วย tablet ยี่ห้ออื่นๆที่ทยอยเข้ามาขอแบ่งเค้กจาก Apple เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความสามารถของ tablet ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 2-3 ปีมานี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า หรือ tablet จะมาทดแทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เราใช้กันมาตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา? ยอดขายของ tablet นั้นกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2012 นี้ ที่อเมริกา ลำพังยอดขาย tablet ถึงเดือนพฤษภาคม ก็เกือบจะเป็นสองเท่าของยอดขายในปี 2011 แล้ว แต่หากมาดูกันที่ความสามารถของ tablet ในขณะนี้ จะเห็นได้ชัดว่า tablet ยังไม่สามารถมาทดแทน pc ได้ tablet นั้นมีข้อดีที่พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่ประสิทธิภาพนั้นค่อนข้างจำกัด จึงเหมาะที่จะนำไปใช้เพื่อความบันเทิงส่วนตัวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของ tablet นั้นเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กรเริ่มที่จะนำ tablet มาใช้ในการดำเนินงาน ผลจากการวิจัยระบุว่า มากกว่า 80% ของบริษัทที่อยู่ในลิสต์ Fortune 100 กำลังใช้ iPad หรือกำลังทดสอบการนำ iPad มาใช้ เพราะประโยชน์จากการพกพาได้สะดวก ส่วนตัวผมเองคิดว่า คงเป็นไปได้ยากครับที่ tablet จะเข้ามาทดแทน pc ได้ 100% เพราะนอกเหนือไปจากเรื่องประสิทธิภาพแล้ว งานด้านคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เหมาะที่จะนั่งโต๊ะทำงานจริงๆจังๆมากกว่า ทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ถนัดกว่า, ขนาดหน้าจอที่ใหญ่กว่า, คีย์บอร์ดที่พิมพ์ได้ถนัดมือกว่า เหล่านี้คือข้อจำกัดอีกด้านหนึ่งของ tablet แต่แน่นอนครับว่า tablet สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ในหลายๆด้านทีเดียว ซึ่งก็น่าจะเป็นงานที่ใช้จุดเด่นของ tablet นั่นคือ การพกพาได้สะดวก , การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ลองจินตนาการเล่นๆกันดูครับ หากมองการทำงานของบริษัทผลิตสินค้า โดยทั่วไปก็จะประกอบด้วย ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายQC ฝ่ายขนส่ง เราลองมาดูกันว่า พอจะนำ tablet ไปประยุกต์ใช้ยังไงได้บ้าง เริ่มจากฝ่ายขาย เมื่อออกไปพบลูกค้า สามารถประยุกต์ใช้ tablet ได้ตั้งแต่การนำเสนองานหรือแสดงเอกสารหลักฐานต่างๆ หลังจากนำเสนองานเสร็จ อาจจะต้องมีการประเมินราคา, เช็คสต๊อก, ตรวจสอบแผนการผลิต ตรงนี้ ข้อได้เปรียบของ tablet คือ สามารถตรวจสอบได้แบบ real time จึงสามารถแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบได้ทันที ในส่วนของกระบวนการผลิต tablet สามารถเข้ามาช่วยในด้านการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างไลน์ผลิตและออฟฟิศ เช่น ฝ่ายขายสามารถตรวจสอบลำดับงานที่รอการผลิตและสามารถทราบได้ทันทีเมื่องานผลิตเสร็จ และรีบแจ้งลูกค้า อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้งานได้มากคือ logistics ซึ่งข้อมูลแบบ real time ขณะที่อยู่นอกบริษัท เป็นเรื่องสำคัญมากๆ หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องใช้ tablet ในเมื่อ notebook ก็สามารถตอบโจทย์ได้เหมือนกันแถมมีประสิทธิภาพเหนือกว่า tablet มาก? ถ้ามาดูที่ hardware ก็จะเห็นว่า สิ่งที่ tablet เหนือกว่า คือ สามารถออนไลน์ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้ ในขณะที่ notebook จะต้องต่อสาย LAN หรือออนไลน์ผ่านwifi network อีกทั้ง tablet ยังมีแบตเตอรี่ที่อึดกว่า notebook มาก อีกจุดหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ความสะดวกในการใช้งานครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดเครื่องได้อย่างรวดเร็ว การถือใช้งานได้ด้วยมือเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้เหมาะกับการใช้งานในขณะที่ต้องเดินทาง นั่งรถ ยืน หรือมีเวลาอยู่แต่ละที่ไม่นานนัก ความสะดวกตรงนี้มองเผินๆอาจไม่สำคัญนักแต่เวลาไปใช้งานจริงสำคัญมากครับ ลองจินตนาการว่า ท่านกำลังยืนคุยกับลูกค้าหน้างานดูนะครับ ถ้าใช้ tablet พอหยิบออกจากกระเป๋า จิ้มสองที โชว์งานได้ทันที อารมณ์มันต่างกับเวลาใช้ notebook มากมายครับ กว่าจะรอโหลดวินโดวส์ เปิดโปรแกรม ยืนถือก็ไม่ถนัดเอาซะเลย บางที สถานการณ์เดียวกัน ถ้ามีแต่ notebook เราอาจไม่คิดจะหยิบออกมาเลย หรือการใช้งานแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบงานทางไกล บ่อยครั้งที่การใช้งานจะเป็นลักษณะว่า เข้ามาตรวจสอบแป๊บเดียวไม่เกินห้านาที แต่ต้องคอยมาเช็คเรื่อยๆทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่า งานลักษณะนี้ไม่เหมาะกับ notebook แน่ๆ ทั้งปัญหาเรื่องเสียเวลาในการเปิดเครื่อง, ต้องหาที่ทางนั่งทำเป็นเรื่องเป็นราว, แบตเตอรี่ที่อาจจะไม่พอใช้งานได้ทั้งวัน ตรงนี้เป็นช่องว่างให้ tablet แทรกตัวเข้ามาเติมเต็มได้ครับ ครับ ไม่ว่าจะเป็น desktop, notebook, iPad/tablet ทุกอย่างมีข้อดีข้อด้อยของมัน อยู่ที่เราเองที่ต้องเลือกใช้ให้ถูกงานครับ เทคโนโลยีหลายอย่างกำลังมา คอยติดตาม, เรียนรู้และหาประโยชน์จากมันให้มากที่สุดนะครับ
ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 79/ ตุลาคม 2555 |