เมื่ออาเซียนเปิดตลาดเสรี ในปี 2558 ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม, และความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ นั่นหมายถึงว่า จะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน การลงทุน อย่างเสรี ในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ในภาพรวมของตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีขนาดใหญ่ขึ้น มีฐานการผลิตร่วมกัน มีแนวทางในการพัฒนาแรงงานและกฎระเบียบต่างๆร่วมกัน ทำให้มีอำนาจต่อรองในเวทีการค้าโลก และหากมีความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานและพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ในระยะยาว มาตรฐานแรงงานใน AEC ควรจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเปิดตลาดเสรี แรงงานจะย้ายจากประเทศที่มีค่าตอบแทนต่ำไปยังประเทศที่มีค่าตอบแทนสูง สำหรับประเทศไทยเรา รายได้ประชากรต่อหัวที่ได้รับโดยเฉลี่ยจัดว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ซึ่งอยู่ระดับกลาง-ล่าง เราต่ำกว่าเฉพาะสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย หากพิจารณาแรงจูงใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากค่าตอบแทนเป็นหลัก แรงงานฝีมือจากไทยก็น่าจะย้ายไปยังสิงคโปร์ บรูไน แต่เมื่อมองดูตลาดแรงงานในสองประเทศนี้แล้วอาจจะเหลือที่ให้แรงงานไทยไม่มากนัก เพราะทั้งสองประเทศมีขนาดเล็ก และแรงงานที่ขาดแคลนเป็นแรงงานระดับกลางถึงล่าง ซึ่งยังมีแรงงานอีกหลายประเทศที่ได้เปรียบเราโดยเฉพาะข้อได้เปรียบด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นจุดอ่อนของแรงงานไทยมาตลอด ในทางกลับกัน แรงงานต่างด้าวอาจจะเข้ามาแย่งงานแรงงานไทยในบ้านเราได้ เพราะทักษะด้านภาษาที่ดีกว่า โดยเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจบริการหรือเน้นการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติ เช่น การท่องเที่ยว สปา โรงพยาบาล ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้ไทยเราถือว่าโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค เพราะมีตลาดใหญ่, มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยและให้ผลตอบแทนสูง จึงน่าจะมีแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะดีกว่าย้ายเข้ามาแทนที่แรงงานไทย มากกว่าที่แรงงานไทยจะย้ายออกไป แต่ในภาพรวมก็ต้องถือว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจเหล่านี้ในบ้านเราเพราะจะทำให้เกิดการแข่งขัน, พัฒนาและขยายตัวขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในกลุ่มประเทศสมาชิกจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจเป็นหลัก ผมคิดว่า สุดท้ายแล้ว ประเทศที่มีจุดแข็งในแต่ละประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรมมาแต่เดิมก็จะดูดเอาแรงงานที่มีทักษะสูงในธุรกิจ/อุตสาหกรรมนั้นๆเข้าไปเอง และทำให้จุดแข็งของแต่ละประเทศยิ่งเด่นชัดมากขึ้น นอกจากเรื่องของตลาดแรงงานแล้ว ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ มาตรการด้านภาษี ซึ่งภายในปี 2558 ประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องลดภาษีการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 0-5 ขจัดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ และในส่วนของการถือหุ้นของนักลงทุนสัญชาติอาเซียนในธุรกิจภาคบริการนั้น สมารถเข้ามาถือหุ้นได้สูงสุดถึงร้อยละ 70 แน่นอนว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมในกลุ่มสินค้าที่มีการตั้งภาษีไว้สูง ซึ่งองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเหล่านี้คงต้องเตรียมความพร้อม และปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับมาตรการภาษี เพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบและปิดจุดอ่อนให้ตัวเอง สำหรับในวงการสเตนเลสเองนั้น ผมคิดว่าตลาดแรงงานคงมีผลกระทบไม่มากนัก เพราะแรงงานไทยในด้านนี้ถือว่ามีทักษะสูงกว่าประเทศอื่นและไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านภาษามากนัก ในส่วนของภาษีนั้น กลุ่มโลหะเป็นกลุ่มสินค้าที่ตั้งภาษีศุลกากรไว้ต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งสเตนเลสที่นำเข้ามาในบ้านเราส่วนใหญ่ก็มาจากนอกกลุ่มอาเซียน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ดี เราควรศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารให้ดี เพราะนี่เป็นโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อกำหนดต่างๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการสร้างช่องทางทำธุรกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอาเซียน + 3, อาเซียน +6 ไปในตัวครับ ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 75/ มิถุนายน 2555 |