Income gap, Moral gap
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้หลายคนนึกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในแง่ของความมีระเบียบวินัย, ความสามัคคี, และสำนึกต่อส่วนรวม ความเห็นทั้งหมดก็สรุปไปทำนองเดียวกันว่า คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย และสำนึกต่อส่วนรวมมากกว่าคนไทยมาก ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยทุกประการครับ แต่ว่ากันอย่างยุติธรรมแล้ว ผมคิดว่า สำนึกของคนไทยก็ไม่ได้แย่นักหรอกนะครับ ถ้าดูข่าวก็จะเห็นว่า มีน้ำใจจากองค์กรต่างๆหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย มีจิตอาสาวัยรุ่นออกไปช่วยตักทราย, ช่วยแพ็คของกันจนแน่นศูนย์ หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่สะดวกจะลงแรงก็บริจาคเงิน/สิ่งของให้องค์กรต่างๆมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบคนที่กำลังเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็น พวกร้านค้า/เรือรับจ้างโก่งราคา, พวกงัดแงะขโมยของ, พวกแอบอ้างชื่อหาเงิน ไปจนถึงนักการเมืองที่หาผลประโยชน์จากของบริจาค ผมติดตามข่าวน้ำท่วมอยู่ระยะหนึ่งก็รู้สึกว่า คนไทยที่จิตใจดีนี่ก็ดีใจหาย พร้อมจะช่วยเหลือสังคมอย่างสุดกำลัง ส่วนคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง เอาเปรียบคนอื่นทุกวิถีทางเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวก็ทำอะไรตรงกันข้ามกับคนกลุ่มแรกได้สุดขั้วเหลือเกิน ชวนให้คิดไปว่า ทำไมมันต่างกันขนาดนี้? ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลต่างของรายได้ (Income Gap) มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆในทวีปเอเชีย นั่นแปลว่า สังคมเรามีความรวยจนแตกต่างกันมาก ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือในยุโรป จะมี income gap ที่ต่ำมาก ชนชั้นแรงงานมีรายได้ไม่ต่างจากคนที่มีปริญญามากนัก และคนเหล่านี้ก็นับเป็นชนชั้นกลางเช่นกัน ทำให้ประเทศเหล่านี้มีฐานชนชั้นกลางที่กว้างมาก ผมเชื่อว่า ในสังคมที่มี income gap น้อย จะส่งผลให้ moral gap (ความแตกต่างทางจริยธรรม) น้อยลงไปด้วย เพราะการที่คนในสังคมมีกำลังจับจ่ายใช้สอยพอๆกัน ทำให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน, มีการแบ่งชนชั้นกันน้อยลง มีความรู้สึกเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกันมากขึ้น การที่มองคนอื่นด้วยความรู้สึกไม่แตกต่างกับตัวเรานี้จะทำให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและระดับจริยธรรมใกล้เคียงกัน ไม่ได้แปลว่า สังคมมีระดับจริยธรรมมากหรือน้อยนะครับ ผมพูดถึงเฉพาะความแตกต่าง (gap) น้อย ซึ่งระดับจริยธรรมอาจจะมากหรือน้อยก็ได้ ในสภาวะวิกฤติแบบนี้ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า สังคมที่มี moral gap ต่ำจะส่งผลดีต่อส่วนรวมมากกว่า เพราะคนจิตใจดีก็พร้อมที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับคนอื่นมากขึ้นโดยไม่ต้องระแวดระวังนัก เช่น ผู้ที่อยากจะช่วยเหลือก็ไม่ต้องกลัวว่าของหรือเงินบริจาคจะถูกอมหรือไปถูกใครแอบอ้างหรือเปล่า ตัวอย่างข้างต้นนี้พูดในลักษณะที่สังคมนั้นมี moral ค่อนข้างสูงนะครับ แล้วถ้าสมมติเป็นสังคมที่มีระดับ moral อยู่ระดับต่ำถึงกลาง โดยมีเงื่อนไขว่า moral gap ต่ำ จะเป็นยังไง ในแง่ลบ สังคมจะมีการช่วยเหลือกันน้อยลง ในแง่บวก สังคมจะมีการเอารัดเอาเปรียบกันน้อยลง ซึ่งบวกลบกลบหนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นผลดีต่อส่วนรวมมากกว่า เพราะไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบ คนในสังคมก็ยังคิดทำอะไรเพื่อสังคมหรือเพื่อตัวเองในระดับที่ใกล้เคียงกัน ผลคือ ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในหลายมิติ เช่น สามารถตีกรอบกฎหมายให้เหมาะสมรัดกุมกับพฤติกรรมของคนในสังคมได้ง่ายกว่า, สามารถดำเนินโยบายต่างๆโดยมีความขัดแย้งน้อยกว่า นอกจากนี้ ในระยะยาว สังคมที่มี moral gap สูง มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ระดับของจริยธรรมในสังคมโดยรวมลดต่ำลง เพราะพฤติกรรมมนุษย์มีแนวโน้มที่จะไม่เสี่ยงหากมีโอกาสที่ตัวเองจะได้รับความเดือดร้อน เช่น จิตอาสาบางคนที่ไปช่วยงานที่ศูนย์มธ. โดนผู้ประสบภัยบ่น ด่าเมื่อตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เจออย่างนี้ เหล่าจิตอาสาก็ไม่อยากจะมาเหนื่อยให้โดนด่าอีก หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยเข้า คนก็จะคิดเหมือนๆกันว่า อย่าไปหาเรื่องใส่ตัวดีกว่า ไม่นานมานี้ มีกรณีสุดโต่งกว่านี้ แต่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนครับ เป็นกรณีเด็กหญิงสองขวบถูกรถตู้ชนแต่คนที่เดินผ่านไปมาถึง 18 คนไม่คิดจะเหลียวแล เพราะกลัวจะถูกฟ้องว่า มีส่วนในการทำความผิดและต้องรับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งมีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมากมายถึงมาตรฐานจริยธรรมของสังคมจีนไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การลด moral gap คงต้องเริ่มจากการลด income gap คือ ปรับระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ใกล้เคียงกัน พร้อมๆไปกับการให้โอกาสทางการศึกษาให้อยู่ในระดับเดียวกัน ว่าไปแล้ว ก็เห็นมีนโยบายลักษณะนี้แทบทุกรัฐบาลนะครับ แต่เราก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมนัก
ดร. บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 6 ฉบับที่ 70/ ธันวาคม 2554 |