เลเซอร์มาร์ค
คำถามหนึ่งที่มักจะได้ยินจากลูกค้า คือ เครื่องตัดเลเซอร์สามารถมาร์คงานได้หรือไม่ คือ เป็นลักษณะกัดเซาะผิว บางส่วน ให้เป็นลวดลายต่างๆบนพื้นผิวโดยไม่เจาะทะลุลงไป เรื่องนี้ผมเคยเขียนคร่าวๆไปแล้วเกี่ยวกับการมาร์คด้วยเครื่องตัดเลเซอร์ คำตอบคือ เครื่องตัดเลเซอร์สามารถทำได้ครับ แต่ทำได้ไม่ดีนัก จะไม่คมสวย เหมือนเครื่องเลเซอร์ที่ออกแบบมาเพื่องานมาร์คโดยตรง ใน ส่วนของเครื่องเลเซอร์มาร์คนั้น ปัจจุบันมีเครื่องมากมายหลายรุ่นในท้องตลาด ราคาจะถูกกว่าเครื่องตัดเลเซอร์มาก เพราะใช้กระบวนการต่างกัน และมีกำลังน้อยกว่ามาก ในการมาร์คโลหะนั้น บางรุ่นสามารถเลือกสีของรอยมาร์คได้เลยทีเดียว ซึ่งสีเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการผสมหมึก แต่เกิดจากการเลือกใช้ความถี่ของคลื่นแสงในกระบวนการสร้างลำเลเซอร์ต่างกัน ทำให้เกิดเป็นสีสันต่างๆขึ้นมา แต่สีที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามชนิด/สี ของวัสดุด้วย เพราะรอยมาร์คนั้นไม่ได้เกิดจากการสร้างเส้นทับลงไปบนชิ้นงานแบบหมึกพิมพ์ แต่จะกัดเนื้อโลหะออกไปจึงมีสีของเนื้อโลหะนั้นมาผสมด้วย นอกจากเรื่องสีแล้ว เรายังสามารถเลือกความหนา/บาง ของเส้นที่เกิดจากเครื่องเลเซอร์มาร์คได้ด้วย โดยเส้นที่เกิดขึ้นนี้สามารถทำได้บางกว่าเครื่องตัดเลเซอร์มาก และเรียบคมสวยกว่าด้วย วัสดุที่สามารถนำมามาร์คได้ค่อนข้างหลากหลายกว่างานตัดเลเซอร์ นอกจากโลหะแล้ว เครื่องเลเซอร์มาร์คยังสามารถมาร์ค พลาสติก, อะครีลิค, ยาง, ไม้, ผ้า, หนัง, เซรามิคได้ด้วย ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของบอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเลเซอร์มาร์คเป็นที่นิยมมาก สมัยเรียนจบใหม่ๆ ผมเคยมีประสบการณ์ทำงานในโรงงานผลิต IC แห่งหนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นวิศวกรดูแลกระบวนการมาร์คตัวหนังสือลงบน IC ที่ไลน์มาร์คนี้จะมีการมาร์คอยู่สองแบบ คือ มาร์คด้วยหมึก และมาร์คด้วยเลเซอร์ เห็นได้ชัดเลยว่า มาร์คด้วยเลเซอร์มีประสิทธิภาพกว่ามาก ทั้งของเสียที่เกิดขึ้นน้อยกว่า และ ประสิทธิภาพในการทำงานที่รวดเร็วกว่ามาก และยังทนทานกว่าด้วย เพราะผิวของ IC ถูกกัดเซาะลงไป ในขณะที่หมึกอาจจะเลือนหลุดหายไปได้
เลเซอร์มาร์คกิ้งบนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานส่วนใหญ่จึงมักจะมาร์คด้วยเลเซอร์ ข้อดีเพียงอย่างเดียวของการมาร์คด้วยหมึกคือ ตัวหนังสือเป็นสีขาว ซึ่งตัดกับพื้นผิวสีดำของ IC ทำให้เห็นชัดกว่ามาก หลายปีมานี้ เวลาผมเห็น IC ก็จะสังเกตดูว่า มาร์คด้วยกระบวนการหมึกหรือเลเซอร์ ปรากฏว่าผมแทบไม่เห็น IC ที่มาร์คด้วยหมึกเลย ไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันนี้ไลน์มาร์คยังมีการมาร์คด้วยหมึกอยู่หรือไม่ สำหรับ ท่านผู้อ่านที่มีงานที่จำเป็นต้องทำโลโก้, ตัวหนังสือ, สัญลักษณ์ ก็ลองดูเครื่องมาร์คเลเซอร์เป็นทางเลือกหนึ่งดูนะครับ ดร. บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 63/ มิถุนายน 2554 |