เรื่องเล่าดีๆ " จากญี่ปุ่น" ในวันแผ่นดินไหว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นความเสียหายที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ท่ามกลางคราบน้ำตาแห่งความสูญเสีย ยังมีเหตุการณ์อีกหลายด้านที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่งดงามและเข็มแข็งของชาวญี่ปุ่น ฉบับนี้ ผมขอเสนอเรื่องเล่าส่วนหนึ่งที่ผมประทับใจครับจากเหตุการณ์นี้ครับ เรื่องทั้งหมดนี้เขียนโดยชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งในคืนเกิดเหตุการณ์และมีนักเรียนไทยคนหนึ่งแปลมา ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ เรื่องแรก ข้าพเจ้าได้เห็นเด็กน้อยพูดกับพนักงานรถไฟว่า "ขอบคุณค่ะ/ครับ ที่เมื่อวานพยายามอย่างสุดชีวิตทำให้รถไฟเดินรถอีกครั้ง" พนักงานรถไฟได้ฟังแล้วร้องไห้ ส่วนข้าพเจ้าร้องไห้ฟูมฟายไปแล้ว เรื่องที่สอง ที่ดิสนีย์แลนด์ คนติด ไม่สามารถกลับบ้านได้จำนวนมากและทางร้านขายของได้เอาขนมใสแจกนักท่องเที่ยว ก็ได้มีนักเรียนม.ปลายหญิงกลุ่มหนึ่งไปเอามาจำนวนมาก มากเกินพอ แว่บแรก ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีคือ อะไรวะ เอาซะเยอะเลย แต่วินาทีต่อมากลายเป็นความรู้สึกตื้นตันใจ เพราะเด็กกลุ่มนั้นเอาขนมไปให้เด็กๆที่พ่อแม่ไม่สามารถไปเอาเองได้เพราะต้อง ดูแลลูกๆ เรื่องที่สาม ในซุปเปอร์แห่งหนึ่ง ของตกระเกะระกะเพราะแรงแผ่นดินไหว แต่คนซื้อก็เดินไปช่วยกันเก็บของ แล้วก็หยิบส่วนที่ตนอยากซื้อไปต่อคิวจ่ายเงิน และ ในรถไฟที่เพิ่งเปิดให้ใช้บริการ มีคนที่ตกค้างจำนวนมากกำลังเดินทางกลับก็ได้เห็นคนแก่คนหนึ่งลุกให้สตรีมี ครรภ์นั่ง คนญี่ปุ่นแม้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ ก็ยังมีน้ำใจ มีระเบียบ เรื่องที่สี่ ในคืนแรกที่เกิดแผ่นดินไหว รถไฟไม่วิ่ง ทำให้คนจำนวนมากต้องเดินกลับบ้านแทนการนั่งรถไฟ ขณะที่ข้าพเจ้าต้องเดินกลับจากมหาลัยมายังที่พัก ร้านรวงก็ปิดหมดแล้ว ข้าพเจ้าได้ผ่านร้านขนมปังร้านหนึ่งซึ่งปิดไปแล้ว แต่คุณป้าเจ้าของร้านก็ได้เอาขนมปังมาแจกฟรีแก่คนที่กำลังเดินกลับบ้าน แม้ภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ น้ำใจเช่นนี้ทำให้หัวใจข้าพเจ้าอบอุ่น ตื้นตัน เรื่อง ที่ห้า ในขณะที่รอรถไฟให้กลับมาวิ่งได้ ข้าพเจ้าก็ได้รออยู่ในอาคารสถานีอย่างเหน็บหนาว โฮมเลส (คนจรจัด) ก็ได้แบ่งปันแผ่นกล่องกระดาษให้ โฮมเลสที่ข้าพเจ้ามองด้วยหางตาทุกวันที่มาใช้สถานี คืนนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เรื่องที่หก ด้วยระยะเวลาสี่ชั่วโมงที่ต้องเดินเท้ากลับบ้าน ก็ได้ผ่านหน้าบ้านหลังหนึ่งตาก็ไปสะดุดกับแผ่นกระดาษที่เขียนว่า "เชิญใช้ห้องน้ำได้ค่ะ" หญิงสาวท่านหนึ่งได้เปิดบ้านตัวเองให้แก่คนที่กำลังเดินกลับบ้านได้ใช้ วินาทีที่ได้เห็นแผ่นกระดาษนั้นน้ำตามันก็ไหลออกมาเอง เรื่องที่เจ็ด ในจังหวัดจิบะ คนลุงคนหนึ่งที่หลบภัยอยู่ก็ได้เปรยออกมาว่า ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรน้า เด็กหนุ่มม.ปลายก็ตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง ต่อจากนี้ไปเมื่อผมเป็นผู้ใหญ่ พวกผมจะทำให้มันกลับมาเหมือนเดิมแน่นอน! อ่านแล้วก็ต้องทึ่งในจิตสำนึกต่อส่วนรวมของชาวญี่ปุ่นทั้งในเรื่องของน้ำใจและระเบียบวินัยนะครับ นี่คือตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม คนละนิดละหน่อย สุดท้าย ผลประโยชน์ก็จะกลับมาที่ตัวเราเอง มากกว่าที่เราจะไปทำเพื่อตัวเองเสียอีก ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่า ไทยเรายังด้อยกว่ามากจริงๆ แน่นอนครับ คนไทยมีน้ำใจ หากประสบภัยย่อมช่วยเหลือกันเต็มกำลัง ดังเหตุการณ์สึนามิ,น้ำท่วม และอีกหลายๆครั้งที่ผ่านมา แต่คงต้องแยกให้ออกนะครับว่า น้ำใจและวินัย มันคนละเรื่องกัน ระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่นนี้เป็นเรื่องที่ปลูกฝังกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน คงไม่สามารถปรับแก้กันได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่อย่างน้อยที่ทำได้เลยคือ เริ่มที่ตัวเราเองก่อนทีละเล็กละน้อยครับ ฉบับนี้ วารสารเพื่อนสเตนเลส เข้าสู่ ปีที่ 7 ก็ขอให้วารสารดีๆแบบนี้อยู่คู่กับวงการไปนานๆ สร้างสรรค์ผลงานและกิจกรรมดีๆอยู่เสมออย่างที่ทำมาตลอดนะครับ ขอบคุณพี่ๆน้องๆทีมงานที่ให้โอกาสผมได้มีพ้นที่ตรงนี้มาตลอดด้วยครับ
ดร. ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 61/ เมษายน 2554 |