
1 ปีที่ผ่านไป สวัสดีครับ ฉบับนี้สำหรับผมแล้วค่อนข้างจะพิเศษหน่อย เพราะเขียนคอลัมน์ลงวารสารเพื่อนสเตนเลสนี่มาได้ครบ 1 ปี พอดี เลยถือโอกาสขออนุญาตบก.เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ จาก รู้จริงกับงานสเตนเลส เป็น 1..2..3..Sheets สำหรับที่มาของชื่อคอลัมน์ก็ขอเท้าความสักนิดนึง คือ ครั้งแรกที่ผมเริ่มเขียนนั้นผมขอให้ทางบก.เป็นคนคิดชื่อคอลัมน์ให้ ซึ่งพี่พจน์ก็กรุณาจัดให้เป็น รู้จริงกับงานสเตนเลส อ่านชื่อคอลัมน์ทีแรกผมก็ยังตะหงิดๆอยู่ว่า อันความรู้เรื่องสเตนเลสของเรานี่ช่างห่างไกลจากคำว่า รู้จริง มากนัก อยากจะบอกพี่พจน์เป็นสำนวนจีนว่า มิกล้ารับ ผู้อาวุโสออกจะกล่าวเกินไปแล้ว แล้วผมก็มาลองนึกๆดู วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้องบ้างในสาขาที่เรียนมา (วิศวะ อุตสาหการ) ตั้งแต่ตรีถึงเอกก็เห็นจะมีแต่วิชา Engineering Material ซึ่งลงไปตั้งแต่ตอนปี 1 สมัยเรียนตรีโน้น ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยว่าคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว สิ่งที่เขียนในคอลัมน์นี้มาตลอดก็เพิ่งมาได้จากการทำงานและศึกษาเอาจากหนังสือ, เวบไซต์ , แคตตาลอกเครื่องจักร ซึ่งก็ต้องเรียกว่ายังรู้น้อยมาก เท่าที่ทางบก.อนุญาตให้ขยายขี้เท่อมาจนครบปีนี่ก็ต้องขอขอบพระคุณมากแล้ว ด้วยเหตุที่เห็นชื่อคอลัมน์ทีไรก็ละอายใจนี่แหละครับ ฉบับนี้ครบรอบหนึ่งปี(ของผม) ก็เลยขออนุญาตทางบก.เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ซะ แล้วก็มาคิดๆว่า อยากได้ชื่อที่มันบอกความเป็นตัวเราและเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคอลัมน์บ้าง ก็มาลงตัวที่ชื่อนี้ซึ่งก็มีที่มาจากงานอดิเรกอย่างหนึ่งของผม คือ การถ่ายรูป ชื่อคอลัมน์นี่เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยๆเวลา(ฝรั่ง) ถ่ายรูปกัน ถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะเป็น หนึ่ง..สอง..สาม..ยิ้มมม ประมาณนี้ สำหรับฝรั่งก็จะบอกว่า one..two..three..cheese จับมาทำชื่อคอลัมน์ก็ขอเปลี่ยน cheese เป็น sheets สักหน่อย (เติม s ด้วย เดี๋ยวยิ้มไม่กว้าง) เพราะงานสเตนเลสที่ผมเกี่ยวข้องอยู่ก็เป็นส่วนของการขึ้นรูปแผ่น เนื้อหาที่เขียนมาแล้ว และที่จะเขียนต่อไปก็คงหนีไม่พ้นงานโลหะแผ่น เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ท่านผู้อ่าน เวลาหนึ่งปี สำหรับโรงงานที่เพิ่งเปิดมาได้ปีกว่าๆย่อมมีหลายๆอย่างที่ต้องทำให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งนับเป็นปีที่ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย เรามีการลงเครื่องจักรใหม่ๆ พยายามทำตลาดหาลูกค้าใหม่ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคงานขึ้นรูปโลหะทั้งในส่วนของเครื่องจักรและโปรแกรม ได้ทำระบบ ISO9000 ได้เขียนโปรแกรมเพื่อใช้จัดการการดำเนินงานภายในโรงงาน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์อันมีค่า รวมไปถึงการเขียนคอลัมน์ลงในวารสารฉบับนี้ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้/ศึกษาสิ่งที่เขียนไปพร้อมๆกัน บางอย่างพอมาหาข้อมูลเพื่อจะเขียนแล้วถึงเพิ่งจะรู้ว่าไอ้ที่เราเคยเข้าใจมานั้นมันผิด บางครั้งคิดว่ารู้ เลยไม่คิดสงสัย มาสงสัยก็ตอนเขียนคอลัมน์นี่แหละทำให้มีโอกาสได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม บางครั้งแหล่งข้อมูลก็อาจจะให้ข้อมูลผิดพลาดได้ ก็ต้องลองดูจากหลายๆแหล่งเพื่อให้แน่ใจว่าตรงกัน รวมไปถึงได้ฝึกฝนการเรียบเรียงความคิดและการนำเสนอ หลายครั้งที่รู้สึกว่า หน้ากระดาษน้อยเหลือเกินอยากแจงรายละเอียดให้มากกว่านี้ก็ต้องเลือกกรองเอาส่วนสำคัญมานำเสนอให้ผู้อ่านที่ไม่มีเวลามากได้ประโยชน์จากการอ่านหน้านี้ เพราะฉะนั้น ผมจะพยายามลงแหล่งที่มาหรือเวบไซต์อ้างอิงบทความที่ผมเขียน หนึ่ง เพื่อให้เครดิตกับแหล่งข้อมูล สอง ก็เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ วันก่อนไปงานแต่งงานคุณกอล์ฟ ลูกชายเถ้าแก่ร้านชลบุรีศรีเจริญโลหะ เถ้าแก่ทักขึ้นมาถึงเรื่องคอลัมน์นี้ ก็รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยจะมากจะน้อยก็คงมีคนอ่านอยู่บ้าง และทำให้ยิ่งรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราเขียนไป อย่างไรก็ตาม ถ้าพบเห็นว่าคอลัมน์นี้มีเนื้อหาผิดพลาดประการใดก็ท้วงติงกันเข้ามาได้เลยนะครับ ผมจะเขียนแก้ไขเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้อ่านในฉบับถัดไป มีบางฉบับ ผมก็นึกอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี แต่ที่ผ่านมาเนื้อหาค่อนข้างจะต่อเนื่องทำให้ไม่เป็นปัญหามากนัก ต่อไปที่ผมคิดไว้ว่าจะเขียนก็คือ งานพับ, หลักการคิดราคาค่าบริการงานตัด/พับ, เทคนิคการจัดการในโรงงาน, เทคโนโลยีใหม่ๆในวงการ บางเรื่องก็อิงจากประสบการณ์การทำงานที่ทำอยู่ บางเรื่องก็อาจจะออกไปทางวิชาการมากหน่อย หรือ บางครั้งก็อาจจะมาคุยกันเล่นๆแบบนี้บ้าง ถ้าต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยน (หรือสอบถามราคางานตัดJ) ก็ส่งอีเมล์มาได้ที่ apichat@gmail.com ครับ ฉบับหน้าเรามาคุยกันเรื่องการคิดราคาเลเซอร์ แล้วพบกันใหม่ครับ
ดร.อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล ผู้จัดการฝ่ายผลิต บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 2 ฉบับที่ 16/ กรกฎาคม 2550 |