ReadyPlanet.com




Cross Industry Learning

มีงานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในวงการหนึ่งมักจะเกิดขึ้นจากไอเดียของคนที่อยู่นอกวงการนั้นๆ

การนำความรู้จากวงการหนึ่งไปประยุกต์ใช้กับอีกวงการหนึ่งจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมานี้ เรียกว่า Cross industry learning แปลเป็นไทยแบบภาษาผมเองว่า การเรียนรู้ข้ามอุตสาหกรรม

กระบวนการทั้งหมดนี้ (หยิบความรู้จากที่หนึ่งไปประยุกต์ใช้กับอีกที่หนึ่ง) ไม่ใช่คิดแล้วจะทำได้เลย เพราะต้องผ่านการลองผิดลองถูก, ค้นคว้าหาวิธีที่จะประยุกต์จนเกิดผลเป็นรูปธรรม, มีทีมงานที่เข็มแข็ง, ผู้นำต้องมีพลังใจที่จะยืนหยัดบนความเชื่อของตัวเอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านรอบด้าน

คนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์, มองเห็นความเป็นไปได้ และที่สำคัญต้องมีลูกบ้าพอตัว

มาลองดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมระดับโลกครับ

ทุกคนคงรู้จัก FujiFilm อดีตผู้ผลิตฟิล์มระดับโลกกันดี ปัจจุบันสินค้าของ FujiFilm ที่เรายังเห็นกันอยู่ก็คงจะเป็นกล้องดิจิตอล ซึ่งก็ถือว่าขายดีในระดับต้นๆและเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆในวงการกล้องดิจิตอลมาให้ฮือฮาอยู่เรื่อยๆ

แต่เปล่าครับ กล้องดิจิตอลของ Fuji ยังไม่ได้เรียกว่าเป็น Cross industry learning เพราะยังวนเวียนอยู่ในวงการถ่ายภาพนี่เอง

แต่สิ่งที่เรียกว่าเป็น Cross industry learning คือการข้ามวงการไปเลย

สำหรับ Fuji เริ่มที่ตรงนี้ครับ

ผู้บริหารของ Fuji นั้นมองการณ์ไกลตั้งแต่ยุค 80s ซึ่ง Kodak สามารถผลิตกล้องดิจิตอลออกมาเป็นครั้งแรกของโลก ผู้บริหาร Fuji มองว่าสักวันหนึ่ง ธุรกิจฟิล์มคงไม่สามารถทำเงินได้อีกต่อไป จึงเตรียมความพร้อมโดยการนำเงินกำไรที่ได้จากธุรกิจฟิล์มมาลงทุนในการปรับเปลี่ยนองค์กร และกว้านซื้อบริษัทจากหลากหลายวงการกว่า 40 บริษัท มีตั้งแต่ Health care ไปถึง documentation business

Fuji ซื้อบริษัท Health Care มาทำอะไร?

Fuji นั้นเชื่อว่า ฟิล์มกับผิวหน้าของผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกัน  เช่น โดนแดดมากๆไม่ได้ , สารเคลือบผิวหน้าและเครื่องสำอางค์มีวัตถุดิบหลักเหมือนกันคือ Collagen

Fuji จึงลงทุนสร้างห้องแล็บเพื่อวิจัย Skin care product โดยใช้ฐานความรู้เดิมจากการผลิตฟิล์มที่เกี่ยวกับสารเคมีกว่า 200,000 ชนิด สารต้านอนุมูลอิสระกว่า 4,000 ตัว

 สุดท้ายในปี 2007 Fuji ได้เปิดตัวเครื่องสำอางค์ยี่ห้อ Astalift และขายดิบขายดี จนปัจจุบันมียอดขายกว่าหมื่นล้านเยนและส่งออกไปตีตลาดทั่วโลก

นอกจากนี้ Fuji ยังเข้าไปจับธุรกิจอื่นๆ เช่นการบริหารงานเอกสารโดยควบรวมกับบริษัท Xerox เปลี่ยนชื่อเป็น Fuji Xerox ซึ่งทำรายได้กว่า หนึ่งล้านล้านเยน

ลองดูตัวอย่างอื่นๆกันบ้าง

รองเท้า Nike รุ่น Shox มีส่วน support น้ำหนักที่ส้นเท้า ซึ่งได้ไอเดียมาจากโช้คอัพในวงการฟอร์มูล่าวัน

ระบบ iDrive system ในรถ BMW ซึ่งเป็นตัวควบคุมอุปกรณ์ต่างๆบริเวณคอนโซล ลักษณะคล้ายๆจอยสติ๊ก ก็ได้ไอเดียมาจากคอนโทรลเลอร์ในวงการเกม

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ Cross industry learning ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการที่มีโอกาสได้เห็นได้ทำอะไรที่หลากหลายและเก็บมาคิด มาจิตนาการต่อ

เรื่องของโอกาสนี้แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีไม่เท่ากัน บางครั้งอยู่ที่จังหวะชีวิต โชคชะตาพาไป

แต่หากที่ผ่านมา เราคิดว่ายังไม่มีโอกาสอะไรมากมาย ก็อย่าไปโทษโชคชะตาฟ้าดินเลยครับ

ดังคำกล่าวของ Milton Berle นักแสดง/ตลกชื่อดังชาวอเมริกัน  “If opportunity doesn’t knock, build a door” – ถ้าโอกาสไม่มาเคาะ ก็สร้างประตูซะ

 

ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 8 ฉบับที่ 87/ มิถุนายน 2556

 

อ้างอิง:

http://www.iyno.com/cross-industry-learning/

http://www.blacksheep.co.th/article/different-story/

 







แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล