ReadyPlanet.com




เศรษฐศาสตร์กับโอลิมปิค

ระหว่างวันที่ 27 กค. – 12 สค. 2555 นี้เป็นช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาโลกที่จัดเพียง 4 ปีครั้ง นั่นคือ โอลิมปิกเกมส์ ที่ถือว่า เป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ โดยโอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 มีประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันแทบทั้งหมดจัดขึ้นที่มหานครลอนดอน

ดูลอนดอนเกมส์ 2012  คราวนี้ นอกจากดูกีฬากันเพลินๆแล้ว ยังเห็นการเตรียมความพร้อมหลายๆด้านของประเทศเจ้าภาพ ชวนให้คิดไปว่า ในแง่เศรษฐกิจแล้ว การเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกนี่คุ้มหรือเปล่า?

ในแง่บวก ประเทศเจ้าภาพต้องก่อสร้างสนามเพื่อรองรับการแข่งขันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าในช่วงที่มีการแข่งขันจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งหมดนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ก่อนการแข่งจะเริ่ม และในระหว่างการแข่งขัน ก็จะมีรายรับมหาศาลจากนักท่องเที่ยว และยังได้โปรโมทประเทศไปในตัว

ในแง่ลบ ค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมนี้เป็นงบประมาณที่สูงมาก สิ่งก่อสร้างต่างๆอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนักหลังจบการแข่งขัน รวมไปถึงผลเสียทางอ้อมในช่วงการแข่งขัน เช่น การจราจรติดขัด นักท่องเที่ยวบางกลุ่มหลีกเลี่ยงการมาเที่ยวในช่วงที่มีการแข่งขัน การจ้างงานที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว

จะคุ้มหรือไม่ คงต้องดูเป็นกรณีไปครับ

จากประวัติการจัดโอลิมปิกที่ผ่านมา ถ้ามองในแง่ของการทำกำไรเป็นตัวเงินจากการจัดแล้ว มีน้อยครั้งมากที่ประเทศเจ้าภาพได้กำไร หนึ่งในนั้นคือ ลอสแองเจลลิสเกมส์ 1984 แต่หากมองในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว โตเกียวเกมส์ 1964 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก อัตราการเติบโตของ GDP หลังจบการแข่งขันเพิ่มจาก 10.1% เป็น 26.1% ของ อีกทั้งรัฐบาลมีการวางแผนที่ดี สิ่งก่อสร้างต่างๆถูกนำมาใช้ประโยชน์หลังจบการแข่งขัน การเป็นเจ้าภาพของญี่ปุ่นในครั้งนั้นทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านผลิต บริการ การก่อสร้าง การขนส่ง การสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในเวลาต่อมา

โซลเกมส์ 1988 เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ประเทศเจ้าภาพได้ประโยชน์อย่างมาก เกาหลีใต้นั้นตั้งใจมากกับการจัดครั้งนั้นและเตรียมความพร้อมมานาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากในระหว่างปี 1981 ถึง 1988 รายได้ต่อหัวเพิ่มจาก USD2300 เป็น USD6300 มีการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดในช่วง 1981-1988 ทำให้เกาหลีใต้เป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชียขึ้นมาทันที

ในทางกลับกัน ประเทศที่ถือว่าล้มเหลวมากที่สุดประเทศหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพคือ กรีซ ในการจัดเอเธนส์เกมส์ 2004 เศรษฐกิจของกรีซเองนั้นย่ำแย่มานานแล้ว จำต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างชาติมาจัดงานโดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การจัดโอลิมปิกครั้งนั้นขาดการวางแผนและการตลาดที่ดี งบที่บานปลายทำให้กรีซเพิ่มหนี้ให้ตัวเองอีกมหาศาลและเป็นส่วนหนึ่งนอกเหนือไปจากนโยบายประชานิยมและปัญหาคอร์รัปชั่นที่ทำให้เศรษฐกิจกรีซตกต่ำและกระเทือนไปทั่วยุโรป

สำหรับ ลอนดอนเกมส์ 2012 คราวนี้ อังกฤษเองได้ใช้งบประมาณเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 9.3 พันล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะสูงถึง 1.1 หมื่นล้านปอนด์  เนื่องจากงบด้านการก่อสร้างและการรักษาความปลอดภัยที่เกินกว่าที่คิดไปมาก ทำให้รัฐบาลกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้าน

ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ งานวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ชี้ว่า การใช้จ่ายในช่วงโอลิมปิกอาจจะเพิ่ม GDP ในช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 0.3 - 0.4% จากไตรมาส 2 และยังมีผลประโยชน์ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และศักยภาพด้านการลงทุน

เศรษฐกิจของอังกฤษจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องผลประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งที่ประเทศเจ้าภาพหวังไว้มากคือ หน้าตา ชื่อเสียงจากการเป็นเจ้าภาพ  เรื่องนี้ทำให้ถึงกับทำให้หลายๆประเทศที่ไม่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจก็ยังเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาจัดงาน แล้วหาทางใช้หนี้กันเอาทีหลังก็เอา ขอให้ได้เป็นเจ้าภาพ

ว่าไปแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า ที่พยายามทุ่มสุดตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพนี้ เพื่อชื่อเสียงหน้าตาของประเทศ หรือเพื่อเป็นผลงาน/หน้าตาของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแน่

ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 77 / สิงหาคม 2555







แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล