ReadyPlanet.com




ปรับตัวเพื่ออยู่รอด article

ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการอันโด่งดัง เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด”

นับตั้งแต่ที่โลกถือกำเนิดมาเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกประเภทบนโลกนี้ผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากบ้างน้อยบ้าง ทีละเล็กละน้อย บ้างก็สูญพันธุ์ไป บ้างก็ปรับเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม บ้างก็แตกแขนงออกเป็นหลายสายพันธุ์

คุณลักษณะที่ถูกคัดเลือกไว้และส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นคือ คุณลักษณะที่เอื้อในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมของมัน และเอื้อต่อการขยายเผ่าพันธุ์

สำหรับมนุษย์เอง ด้วยลักษณะทางกายภาพ ช่วงเวลาที่ผู้หญิงใช้ในการอุ้มท้องรวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกจนดูแลตัวเองได้นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่นานมากเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ซึ่งในช่วงเวลาที่อุ้มท้องนี้โดยปกติผู้หญิงก็จะสามารถมีลูกได้แค่ 1-2 คน  เมื่อเทียบกับผู้ชายแล้วจะเห็นว่า ผู้ชายสามารถมีโอกาสขยายเผ่าพันธุ์ได้มากกว่ามากโดยผ่านผู้หญิงหลายคน คุณลักษณะเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ชายมีแรงขับทางเพศมากกว่า และมีพฤติกรรมที่โอนเอียงไปทางเจ้าชู้ และด้วยลักษณะทางกายภาพที่ผู้ชายแข็งแรงกว่า ทำให้แนวโน้มของวัฒนธรรมมนุษย์มีโอกาสที่จะเป็นหนึ่งผัวหลายเมีย

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้ยินเรื่องผู้ชายทั้งแอบและไม่แอบไปมีเมียน้อย ในขณะที่เรื่องผู้หญิงมีชู้เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยกว่ากันมาก

และมันก็คงจะยิ่งแปลกสำหรับหลายๆคน ถ้าผู้หญิงมีผัวหลายคน โดยที่ผัวหลายคนนี้เป็นพี่น้องกัน ยิ่งไปกว่านั้นทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอย่างเปิดเผย

วัฒนธรรมแบบนี้มีอยู่จริงครับ และสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานด้วย

วัฒนธรรมหนึ่งเมียหลายผัวนี้เรียกว่า Polyandry ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับสังคมทั้งหมดในโลกแล้วถือว่าน้อยมากๆ พบได้ในสังคมทิเบตหรือเนปาลบนภูเขาสูง, แคนาดาบริเวณใกล้ทวีปอาร์คติก, อินเดียตอนใต้บางพื้นที่

วัฒนธรรมแบบนี้ เท่าที่มีการสำรวจมา ผู้ชายที่เป็นสามีทั้งหมดจะเป็นพี่น้องกัน โดยอาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น การให้สิทธิ์ความเป็นพ่อหรืออำนาจในครอบครัว, สิทธิ์ของผู้หญิงในครอบครัว, แนวทางในการเลี้ยงดูลูก ฯลฯ แต่วัฒนธรรมแบบนี้มีลักษณะร่วมกัน คือ จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ดำรงชีวิตอยู่ได้ค่อนข้างยากลำบาก

การที่วัฒนธรรมหนึ่งจะสามารถคงอยู่ได้อย่างยาวนานนั้น มันย่อมมีประโยชน์ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นเอง  วัฒนธรรม Polyandry ก็เช่นกัน

ที่ทิเบต พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงนั้นทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ได้ สภาพอากาศที่โหดร้ายทารุณทำให้การเลี้ยงดูทารกเกิดใหม่ให้อยู่รอดนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และผู้ชายมักต้องออกเดินทางไกลเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อไปค้าขายหรือเดินทางกับขบวนคาราวาน

การมีหลายสามี ทำให้ผู้หญิงยังมีกำลังผู้ชายในการช่วยเลี้ยงดูลูกในระหว่างที่สามีอีกคนออกเดินทาง การแต่งงานแบบนี้ไม่ได้เกิดจากความมักมากของฝ่ายหญิง แต่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดรูปแบบการดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด และผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในครอบครัวก็ยังคงเป็นผู้ชาย โดยมากมักจะเป็นพี่ชายคนโต

ข้อดีอีกอย่างของวัฒนธรรมแบบนี้ คือ ทำให้จำนวนประชากรสมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพที่ผู้หญิงสามารถมีลูกได้เพียงครั้งละหนึ่งคน ทำให้อัตราการเกิดของประชากรต่ำ นักมานุษยวิทยาบางคนจึงกล่าวว่า วัฒนธรรมแบบนี้เป็นการคุมกำเนิดประชากรแบบหนึ่ง

 ที่เอามาเล่าให้ฟังฉบับนี้ ก็อยากให้เห็นว่า อะไรที่เราว่าแปลกประหลาดในสังคมเรา บางทีอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมอื่น บางครั้งเราไม่อาจจะตัดสินคนจากกรอบความคิดที่ถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ของเรา

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตของชุมชน

ถ้ามองในแง่ของธุรกิจ ทุกวันนี้สภาพแวดล้อม/วิถีทางในการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน ถ้าจะอยู่รอดก็ต้องคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปรับตัวให้ทัน และเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะกับธุรกิจและแนวทางของเรามากที่สุดครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/Polyandry

 

 

ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 7 ฉบับที่ 76/ กรกฎาคม 2555

 







แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล