
ควันหลงจากโศกนาฎกรรม ![]() ก่อนวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจกับสังคมเป็นอย่างมาก คือ อุบัติเหตุรถเก๋งชนรถตู้โดยสารบนทางด่วน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน นอกจากยอดผู้เสียชีวิตที่สูงจนน่าใจหายแล้ว ประเด็นที่ทำให้เหตุการณ์นี้กลายมาเป็น talk of the town คือ ผู้ขับรถเก๋งเป็นเด็กสาวอายุเพียง 16 ปี มีนามสกุลดัง และ ฝ่ายผู้เสียหายเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะ หนึ่งในผู้เสียชีวิต ดร. ศาสตรา หรือ ดร. เป็ด ซึ่งผ่านเส้นทางชีวิตที่ยากลำบาก จนประสบความสำเร็จทางการศึกษา มีหน้าที่การงานที่ดี และกำลังเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว เรื่องราวชีวิตของดร.เป็ดที่น่าชื่นชมและปลายทางชีวิตที่น่าสลด จึงยิ่งเพิ่มน้ำหนักของผลกระทบทางความรู้สึกต่อผู้ที่ได้รับรู้มากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
กระแสที่เกิดขึ้น คือ ผู้คนส่วนใหญ่เห็นอกเห็นใจฝ่ายผู้เสียหาย ในขณะเดียวกันก็ร่วมกันรุมประณาม แพรวา เด็กสาวผู้สร้างความเสียหาย ในสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ด่าแรงๆตามเวบบอร์ดต่างๆ และถึงกับมีการจัดตั้งกลุ่มคนไม่พอใจขึ้นมาในเฟซบุค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เธอมีนามสกุลดัง ทำให้เกรงว่า จะมีการใช้เงินหรืออำนาจในทางที่ไม่เป็นธรรม เหมือนดังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผมติดตามข่าวนี้ด้วยความรู้สึกหลายๆอย่างครับ อย่างแรก คือ รู้สึกเห็นใจทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้เสียหายนั้น แน่นอนว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นความเจ็บปวดที่ยากเกินบรรยายสำหรับญาติพี่น้อง แต่สำหรับฝ่ายเด็กสาวที่ขับชนนั้น ผมเห็นใจในแง่ที่เธอต้องรับแรงกดดันมหาศาลขนาดนี้ เธอทำผิดกฎหมายแน่นอนที่ขับรถโดยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความประมาท หรือ เป็นเหตุสุดวิสัย ผมเชื่อว่า เธอไม่มีเจตนา ซึ่งเธอเองก็คงเสียใจและรู้สึกผิดมากอยู่แล้ว แต่กลับถูกปฏิบัติราวกับเธอเป็นฆาตกรใจโหด ถ้ามันเกิดจากความประมาท ผมเชื่อว่า เราทุกคนเคยประมาทกันมาแล้วทั้งนั้น แต่เธอโชคร้ายที่ความประมาทของเธอ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงขนาดนี้ ในสภาพจิตใจที่กำลังย่ำแย่จากความรู้สึกผิดที่ทำให้คนเสียชีวิตถึง 9 คน แล้วยังต้องรับการพิพากษาจากสังคม ผมรู้สึกว่า นี่ไม่ได้ต่างอะไรกับการฝังเธอทั้งเป็น ท่ามกลางกระแสที่รุมประณามเธอ ผมรู้สึกว่า คนไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนจะคล้อยตามกระแสสังคมได้ง่ายมาก น่าจะเป็นเพราะการไหลตามน้ำอย่างนี้ทำให้รู้สึกว่า ตัวอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย อุ่นใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง แล้วยังได้ด่าเอามันส์เป็นของแถม อย่างที่สอง คือ คิดถึงบทบาทของพ่อแม่ จากการให้สัมภาษณ์ของแม่แพรวา เธอเคยขับรถสมัยเรียนเมืองนอกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย(?) และเมื่อกลับมาเมืองไทย แม่ก็ให้เธอขับบ้างโดยที่ตัวเองก็นั่งไปด้วย เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การละเมิดกฎหมายข้อนี้ ผู้ปกครองของเธอมีส่วนต้องรับผิดชอบอยู่มาก แต่สำหรับผมแล้วประเด็นนี้ไม่ได้น่าสนใจเท่ากับเรื่องที่มีกระแสชี้ไปในทำนองว่า ผู้ปกครองเธอพยายามใช้อำนาจของตัวแทรกแซงสื่อ บิดเบือนข้อมูล ปิดข่าว รวมไปถึงขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย กระแสสังคมต้องการให้คดีนี้ถูกดำเนินการอย่างเป็นธรรม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้วนะครับ ผมเห็นด้วย ผมก็ไม่ทราบว่า ครอบครัวเธอมีอำนาจหรืออิทธิพลมากน้อยแค่ไหน และได้ทำอะไรไปหรือไม่ แต่ผมลองมาคิดว่า ณ วันนี้ ผมพูดได้ว่า ทุกอย่างสมควรดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่ควรมีการแทรกแซงใดๆในทุกขั้นตอน แต่ถ้าถามว่า วันหนึ่ง เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับลูกหรือคนใกล้ชิด ผมยังจะสามารถพูดอย่างนี้ได้อยู่หรือเปล่า ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของคนทั่วไปนะครับ ถ้ามีทรัพยากรอะไรอยู่ในมือ ก็ต้องใช้ให้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องสิ่งที่ตนรักและหวงแหน (หรือเพื่อให้ได้มา) สิ่งที่ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นจริงๆ จึงอยู่ที่การทำงานของผู้รักษากฎหมาย อย่างที่สาม คือ รู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิต หลายๆคนกำลังมีอนาคตที่ดี ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ด้านการงาน แต่กลับต้องมาจบชีวิตอย่างน่าสลดหดหู่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ข่าวคนตายก็มีให้เห็นอยู่ทุกวัน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ผมตระหนักมากขึ้นถึงความตายที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน.ทุกที่,ทุกเวลา เราควรจะมีมรณานุสติไว้ตลอด และเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้ควรจะสร้างกุศลกรรมไว้ให้มากๆ สำหรับปี 2554 นี้ ก็ขอให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆสมาชิกวารสาร เพื่อนสเตนเลส คิดหวังสิ่งใดก็ขอให้ได้ตามประสงค์นะครับ แต่ถ้าไม่ได้มาก็ขอให้มีทัศนคติที่ดีไว้ ยามที่เราผิดหวัง พลาดหวังจากอะไรก็ตาม เราไม่ได้ผ่านมันมาด้วยมือเปล่าหรอกครับ ประสบการณ์ คือ สิ่งที่ได้มา เมื่อเราไม่ได้สิ่งที่เราต้องการครับ
ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลส สตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 5 ฉบับที่ 58/ มกราคม 2554
|