ReadyPlanet.com




แปลกแยก หรือ แตกต่าง? article

 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน คอลัมน์ 1..2..3..sheets กลับมาเหมือนเดิมแล้วครับ ขออภัยที่ห่างหายไปนานนะครับ 

 

ฉบับนี้ ขอคุยถึงคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งที่ผมเพิ่งได้ดูแล้วรู้สึกว่า น่าสนใจที่จะหยิบมาเล่าสู่กันฟังครับ เป็นคลิปจากเวบไซต์ ted.com เวบไซต์นี้เป็นเวบไซต์ที่รวบรวมการพูดในงานสัมมนา TED conference ซึ่งเป็นงานสัมมนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จากบุคคลที่มีไอเดีย และประสบการณ์ในสายงานต่างๆ

งานสัมมนานี้ เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1984 คำว่า TED ย่อมาจาก Technology, Entertainment, and Design เคยมีบุคคลดังๆมาพูดมากมาย เช่น บิล คลินตัน, อัล กอร์, บิล เกตส์ ฯลฯ

คลิปที่ผมจะพูดถึงนี้ เป็นคลิปสั้นๆยาวแค่สองนาทีกว่าๆ ของคุณเดเรค สิเวอร์ส เนื้อหาโดยรวมของคลิปนี้ก็คือ บางครั้ง ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม, ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ทำให้เรามองสิ่งที่ต่างไปจากเราว่า เป็นความผิดปกติ แต่อันที่จริงแล้ว อาจจะเป็นแค่ความแตกต่าง

คุณเดเรคยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณเป็นคนอเมริกัน กำลังยืนอยู่บนถนนสักแห่งในอเมริกา แล้วมีคนญี่ปุ่นเดินมาถามทางคุณว่า "ขอโทษครับ ช่วงตึกนี้เรียกว่าช่วงตึกอะไรครับ" คุณจะตอบว่า "ขอโทษครับ ตรงนี้ถนนโอ๊ค ตรงนั้นถนนเอลม์" คนญี่ปุ่นถามต่อว่า "แล้วชื่อของช่วงตึกนี้ล่ะครับ" คุณก็จะตอบว่า "ช่วงตึกมันไม่มีชื่อครับ ถนนมีชื่อ แต่ช่วงตึกเป็นแค่พื้นที่ระหว่างถนน มันไม่มีชื่อ" คนญี่ปุ่นนั้นก็เดินจากไปด้วยอาการสับสนเล็กน้อย

คราวนี้ สมมติว่า ถ้าคุณไปญี่ปุ่น กำลังยืนอยู่บนถนนสักแห่งในญี่ปุ่น คุณเข้าไปถามทางคนญี่ปุ่นคนหนึ่งว่า "ถนนนี้ชื่ออะไรเหรอครับ" เขาจะตอบว่า "อ้อ ตรงนั้นช่วงตึกที่ 17 และตรงนี้ช่วงตึกที่ 16 ครับ" คุณอาจจะบอกว่า "ครับ แล้วถนนนี้ชื่ออะไรล่ะครับ" เขาก็ตอบว่า "ถนนมันไม่มีชื่อครับ แต่ช่วงตึกมีชื่อ ถนนเป็นแค่พื้นที่ไม่มีชื่อระหว่างช่วงตึก"

การไม่ใช้ชื่อถนนของญี่ปุ่นคงดูเป็นเรื่องแปลกในสายตาของคนประเทศอื่น และแน่นอนว่า คนญี่ปุ่นเองก็มองระบบที่ตัวเองไม่คุ้นเคยว่าแปลกประหลาดเหมือนกัน คุณเดเรค ยังยกตัวอย่างความแตกต่างกรณีอื่นๆ เช่น หมอในจีนเชื่อว่า อาชีพของพวกเขา คือ คอยดูแลให้คุณแข็งแรง ดังนั้น ถ้าเดือนไหนคุณแข็งแรงคุณก็จ่ายเงินพวกเขา แต่พอคุณป่วย คุณก็ไม่ต้องจ่าย เพราะพวกเขาถือว่า เป็นความล้มเหลวในหน้าที่

คุณเดเรค ปิดท้ายการพูดด้วยคำว่า "ไม่ว่าความคิดที่ยอดเยี่ยมอะไรก็ตาม ที่คุณมี หรือได้ยินมา สิ่งตรงข้ามก็อาจะเป็นจริงได้เช่นกัน"

ลองนึกดูดีๆแล้ว ในชีวิตประจำวันของเรา เราเจอเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆนะครับ อะไรที่เราไม่คุ้นเคย ไม่ชิน เราก็มักจะมองว่า แปลกประหลาด, ผิดปกติ ยิ่งเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามแล้ว ยิ่งไม่มีทางที่จะออกมาดีได้แน่นอน แล้วเราก็พยายามบังคับให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปในวิถีที่เราคุ้นเคย

ผมเชื่อว่า การเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความแตกต่างที่ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น เป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเติบโตในด้านอื่นต่อไป ไม่ว่าสังคมนั้นจะใหญ่ระดับโลก ระดับประเทศ องค์กร บริษัท หรือ ครอบครัว

คราวหน้า ถ้าเจอความคิดแปลกๆของคนใกล้ตัว ลองนึกแว้บๆขึ้นมาก่อนดูนะครับว่า "แปลกแยก หรือ แค่แตกต่าง?" ถ้าความคิดนั้นมันไม่ได้เดือดร้อนอะไรใคร หรือ จะต้องลงทุนอะไรมากมาย ลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากวิถีเดิมๆดูบ้าง ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวนะครับ

 

ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลส สตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 5 ฉบับที่ 56/ พฤศจิกายน 2553

 

อ้างอิง "http://www.ted.com/talks/lang/tha/derek_sivers_weird_or_just_different.html"







[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (178072)

nice post

ผู้แสดงความคิดเห็น janicenavarro (janicenavarro-at-protonmail-dot-com)วันที่ตอบ 2020-07-07 14:15:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล