ReadyPlanet.com




ผิวสเตนเลสแผ่น
                   

บ่อยครั้งที่ลูกค้าซึ่งอาจจะไม่ได้คลุกคลีกับงานสเตนเลสมากนักโทร.เข้ามาสั่งของกับทางโรงงานผมโดยไม่ทราบว่า สเตนเลสมีหลายลักษณะผิว จึงไม่ได้ระบุเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอยู่  เช่น สั่งว่าเอาผิวเงา ก็เข้าใจว่าจะได้ผิวเงาแบบผิวมิลเรอร์   ซึ่งความจริงแล้ว ผิวเงานั้น แบ่งออกได้เป็นอีกหลายระดับ บางครั้งเราก็เรียก 2B ว่าผิวเงา(เทียบกับ No.1) หรือผิว BA ก็เป็นผิวเงาอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องสื่อสารกันให้ดีและระบุให้ชัดเจนในขั้นตอนการตกลงสั่งทำกันครับ

ฉบับนี้เลยอยากจะขอพูดถึงผิวสเตนเลสที่นิยมใช้กันอยู่ว่า มีผิวลักษณะใดบ้างนะครับ

                No.1 – เป็นผิวเทาด้านเหมือนผิวของ Pipe สเตนเลส NB, เป็นสภาพผิวทั่วไปของแผ่นหนา 3mm ขึ้นไป

                No. 2D – เป็นผิวที่ผ่านการอบอ่อนและการกัดผิวโดยกรด ลักษณะเป็นผิวสีเทาเงินเรียบ

                No. 2B – เป็นผิว 2D ที่ผ่านลูกรีดขนาดใหญ่กดทับปรับความเรียบ เพิ่มความเงาผิวเงาสะท้อนปานกลาง

                No. 2BA - ผ่านกระบวนการรีดเย็นโดยความหนาลดลงทีละน้อยๆ ผ่านการอบอ่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน มีลักษณะเป็นผิวมันเงา สะท้อนความเงาได้ดี แต่จะไม่ถึงขนาดสะท้อนแสงเหมือนกระจกเงาอย่างผิว No.8 เหมาะกับงานที่เป็นขอบ ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม ภาชนะในครัว อุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอาหาร

                No. 4 Hairline - สภาพผิว 2B ที่ผ่านการจัดถูด้วยกระดาษทรายเบอร์ 120-220 โดยค่าความหยาบขึ้นอยู่กับแรงกด, ขนาดของอนุภาคเม็ดทราย และระยะเวลาการใช้งานของกระดาษทราย ผิว No.4 เป็นสภาพผิวที่สนองต่อการนำไปใช้งานทั่วไป เช่นร้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์รีดนม รวมถึงงานตกแต่งสถาปัตยกรรม

No.8 - เป็นสภาพผิว 2B หรือ BA ที่ขัดด้วยผ้าขัดอย่างละเอียดมากขั้นตามลำดับ เช่น #1000, ผ้าขนสัตว์ โดยมีผงขัดอะลูมิเนียมและโครเมียมออกไซด์ ผิว No.8 จะเป็นผิวเงาสะท้อนคล้ายกระจกเงา ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับงานตกแต่งสถาปัตย-กรรมที่เน้นความสวยงาม

                ความจริงแล้วผิวสเตนเลสมีมากกว่านี้นะครับ คือ มีตั้งแต่ No.0 ถึง No.8 ที่กล่าวมานี้เป็นผิวที่นิยมใช้กันทั่วไป ผิว No.1 และ 2B นั้นจะเป็นผิวปกติที่มาจากโรงงานผลิตแผ่น โดยผิว 2B จะเป็นผิวของแผ่นตั้งแต่ 0.4 ถึง 3mm ส่วนแผ่นที่หนาตั้งแต่ 3mm ขึ้นไปจะเป็นผิว No.1 ที่ความหนา 3mm จะมีขายทั้งผิว 2B และ No.1 ส่วนแผ่นที่เป็นผิวอื่น เช่น Hairline, Satin, Mirror นั้นจะเป็นการเอาแผ่น 2B มาขัดเพิ่มและติดฟิล์มกันรอยโดยโรงงานขัด ซึ่งปกติแล้วจะเป็นผิวนั้นๆแค่หน้าเดียวส่วนอีกด้านเป็น 2B นอกจากจะมีการสั่งพิเศษ

                นอกจากผิวที่เป็นมาตรฐานทั่วไปนี้แล้ว ยังมีการทำผิวด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น กัดด้วยน้ำยาเคมีให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ, ขัดด้วยเครื่องขัดมือให้เกิดเป็น pattern หรือลวดลายแบบ non-directional (ไร้ทิศทาง) พวกลวดลายแปลกๆใหม่ๆพวกนี้น่าสนใจนะครับเพราะทำให้เราสามารถสร้างงานที่แตกต่างไปได้ ถ้ามีเวลาก็ลอง google ดูนะครับ เอาไว้เป็นไอเดียผลิตงานใหม่ๆไปเสนอลูกค้าได้ครับ

                พอดีมีบางท่านถามมาก็ขอประชาสัมพันธ์นิดนึงละกันครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจอ่านบทความเก่าๆของผมก็เข้าไปอ่านได้ที่ www.psthailand.com ใต้เมนู Articles ครับ

                ฉบับนี้สวัสดีครับ

 

ดร. อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลส สตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 5 ฉบับที่ 48/ มีนาคม 2553

อ้างอิง:

http://www.bssa.org.uk/topics.php?article=47

http://en.wikipedia.org/wiki/Stainless_steel

http://www.fanagalo.co.za/tech/tech_finishes.htm







แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล