ReadyPlanet.com




ทฤษฎีโลกเล็ก

เคยไปงานเลี้ยงแล้วเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มั๊ยครับ – รู้จักคนแปลกหน้าจากคนที่เรารู้จักในงาน, ทำความรู้จักทักทาย, พอคุยไปคุยมาสักพัก ใครสักคนก็พูดว่า อ๋อ เป็นเพื่อน xxx นี่เอง แล้วก็ตบท้ายด้วยประโยคสุดคลาสสิคว่า “แหม โลกกลมจริงๆ”

คงเป็นเหตุการณ์ที่เราเคยเจอมานับครั้งไม่ถ้วนนะครับ

ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญที่น่าประหลาดใจอะไรครับ ในวงการวิทยาศาสตร์ หัวข้อนี้มีการศึกษากันอย่างจริงจังและพบว่า มีประโยชน์มากมายทีเดียว เรียกว่า ทฤษฏีโลกเล็ก (Small World Theory) เชื่อไหมครับ ทฤษฎีนี้บอกว่า คนทั้งโลกนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้โดยผ่านคนเพียง 6 คน ยกตัวอย่างเช่น นายสมชาย อาจจะเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีสหรัฐโดยมีเส้นทางดังนี้ สมชายรู้จัก A ซึ่งเป็นเพื่อนกับ B, B เป็นนักเรียนไทยที่อเมริการู้จักกับ C เพราะ C เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา, C รู้จักกับ D ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง, D รู้จักกับนักการเมืองตำแหน่งสูงคนหนึ่งคือ E และ E รู้จักกับโอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นต้น

การวิจัยเรื่องโลกเล็กนั้นเริ่มจาก นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีสองคนพบว่า สิ่งที่ทำให้เราเจอเหตุการณ์โลกเล็กบ่อยๆ คือ ธรรมชาติของการเกี่ยวพัน/ เชื่อมโยงกันภายในสังคม โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การเกี่ยวพันกันแบบสุ่ม หมายความว่า เราไม่ได้รู้จักเฉพาะคนที่อยู่ข้างๆ  ในแวดวงอาชีพเดียวกัน หรือ แค่ในเครือญาติ แต่ละคนสามารถจะรู้จักกับใครก็ได้ ถ้าสมมติ ในสังคมมีคน 1 ล้านคน แต่ละคนเกี่ยวพันกับเฉพาะคนที่อยู่ข้างตนอีก 10 คน ถ้ามีข่าวลือเกิดขึ้นจะต้องใช้ขั้นตอนเป็นหมื่นๆขั้น เพื่อที่ข่าวลือจะกระจายไปทั่วสังคม  แต่ถ้าแต่ละคนรู้จักคน 10 คนเท่าเดิม แต่เป็นแบบสุ่มๆ ข่าวลือจะกระจายได้เร็วกว่ามาก เพียงการบอกต่อแค่ 6 ครั้ง ทุกคนก็จะได้รับข่าวลือ

ในปี 1967 นักจิตวิทยาชื่อ มิลแกรม แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการทดลอง โดยเขาส่งกล่องของให้คน 296 คนในรัฐเนบราสก้าและบอสตัน แล้วขอให้คนได้รับส่งต่อให้กับคน”เป้าหมาย” ในแมสซาชูเซตส์ คนได้ส่งกล่องของมิได้ถูกบอกว่า คน”เป้าหมาย”ที่จะต้องส่งต่อนั้นอยู่ที่ไหน: มีเพียงชื่อ อาชีพ และข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวอีกไม่กี่อย่าง มิลแกรมขอให้ผู้ได้รับกล่องของ ส่งต่อให้กับใครก็ตามที่รู้จักสนิทสนมเรียกชื่อแรกกันได้ เพื่อจะได้มีโอกาสสามารถส่งต่อกล่องของต่อไปอีก ผลที่ได้คือ กล่องของถูกส่งต่อถึงคนเป้าหมายจากการส่งต่อเพียง 5 ครั้ง แต่เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยบางคนตั้งคำถามกับการทดลองของมิลแกรม เพราะพบว่า มิลแกรมใช้ข้อมูลส่วนน้อยมาสรุป  ที่จริงแล้ว กล่องของส่วนใหญ่ไปไม่ถึงปลายทาง จึงทำการทดลองซ้ำผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ต้องอาศัยการส่งต่อประมาณ 6 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

ที่น่าสนใจคือ ในแต่ละเครือข่ายนั้น จะมีจุดสำคัญ ที่มีการเชื่อมโยงกับจุดอื่นๆมากกว่าปกติ จุดสองจุดใดๆ ถ้าเชื่อมโยงกันผ่านจุดสำคัญเหล่านี้ก็จะทำให้การเชื่อมโยงสั้นลงมาก ในทางกลับกัน หากจุดเหล่านี้เสียหายก็จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น ในปี 2003 ที่รัฐโอไฮโอ ระบบตัดวงจรไฟฟ้าเสียหาย ส่งผลให้คน 50 ล้านคนในสหรัฐไม่มีไฟฟ้าใช้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ธุรกิจสหรัฐสูญเสียประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทฤษฎีนี้ยังมีแง่มุมที่น่าศึกษาคือ เรื่องของการแพร่กระจายของโรคระบาด การเกี่ยวพันแบบสุ่มกับผู้ที่นอกบริเวณโรคระบาด ทำให้การระบาดเล็กๆกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ได้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่า การระบาดของโรคเอดส์ก็อธิบายได้ด้วยทฤษฏีนี้

ก็หยิบมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ผมอยากจะเสนอมุมมองว่า เหตุการณ์บางอย่างที่เราคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญนั้น จริงๆแล้วก็มีทฤษฎีที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรเลย และเนื้อหาที่มาคุยกันก็เป็นอุทาหรณ์อีกประการหนึ่ง ว่า เราสามารถเชื่อมโยงกับอีกคนที่เราไม่รู้จัก ผ่านคนแค่ไม่กี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ เทคโนโลยีทำให้โลกเล็กลงเรื่อยๆ การเผยแพร่อะไรก็สามารถทำได้ง่ายๆ จะคิดจะทำอะไรก็ขอให้ใช้สติใคร่ครวญอย่างรอบคอบครับ  ความดีที่เพียรทำมาตลอดชีวิตอาจจะถูกทำลายได้ด้วยความคิดเพียงชั่ววูบ

ขอจบบทความนี้ด้วยวาทะของเบนจามิน แฟรงคลิน มหาบุรุษของสหรัฐ: “Glass, china , and reputation are easily cracked, and never well mended.” – แก้ว เครื่องถ้วยชาม และ ชื่อเสียง แตกร้าวได้ง่ายๆ และ ไม่มีทางที่จะประสานได้เหมือนเดิม

ฉบับนี้ก็สวัสดีครับ

อ้างอิง:  แมททิวส์, โรเบิร์ต. 25 ความคิด พลิกโลก (25 Big Ideas) ชัยวัฒน์ คุประตกุล แปล

ดร.อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

ผู้จัดการฝ่ายผลิต บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 4 ฉบับที่ 38/ พฤษภาคม 2552







[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (37102)

สุ้ดยอด

ผู้แสดงความคิดเห็น เต้ วันที่ตอบ 2009-11-04 12:27:25



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล