
อัตตาและหน้าที่ สวัสดีครับ ฉบับนี้ผมขอคุยเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับเทคนิคหรือการบริหารจัดการบ้างนะครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้อ่านเมื่อหลายเดือนมาแล้ว และอยากแนะนำให้อ่านกันดู ถึงแม้ผมจะอ่านจบไปหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้ยังคงมีผลต่อความคิดผมอยุ่เสมอ หนังสือเล่มนี้ ชื่อ เดินสู่อิสรภาพ ของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ประมวลเป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันหนึ่งเมื่อสัก 2-3 ปีที่แล้ว อ.คิดว่า สถาบันการศึกษาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นธุรกิจขึ้นทุกที ซึ่งขัดกับทรรศนะส่วนตัวของอาจารย์ที่มีต่อสถาบันการศึกษา กอปรกับ อาจารย์อยากทำตามความฝันที่ตัวเองอยากทำมานานคือ เดินเท้ากลับบ้านที่สมุย อาจารย์จึงลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วเริ่มทำตามความฝันที่วางไว้ เป้าหมายของการเดินคือ ให้หลุดพ้นจากความกลัว ความโลภ โกรธ หลง อาจารย์ตั้งใจจะไม่ใช้เงินเลยระหว่างการเดินทาง และจะไม่โอดครวญขอความช่วยเหลือจากใคร นอกจากผู้อื่นจะเมตตาให้, เดินโดยอาศัยความศรัทธาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ , ความเชื่อว่า เมตตาธรรมยังคงมีอยู่ในสังคม เดินโดยมีความคิดที่ว่า ถ้าจะตายก็พร้อมจะตาย หลังจากที่ลาออก อาจารย์เริ่มจากการฝึกเดินแถวๆบ้านก่อน ประมาณเดือนนึง จนคิดว่าปรับสภาพร่างกายได้พอเพียงแล้ว ก็ออกเดินทางจากเชียงใหม่ถึงสุราษฏร์ อาจารย์ใช้เวลาทั้งหมดสองเดือนกว่าๆ ระหว่างทางก็ได้พบปะผู้คนมากมาย และได้ค้นพบสัจธรรมหลายๆอย่างด้วยตนเอง อาจารย์ใช้ใจสัมผัสกับสิ่งที่พบเจอมากกว่าที่จะใช้เหตุผล และได้ขบคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆที่ได้พบเจอและเปรียบเทียบกับธรรมะที่เคยศึกษามา สิ่งที่อาจารย์ได้ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้สอดแทรกแง่คิดต่างๆไว้มากมาย สรุปแล้วเป็นหนังสือที่ดีมากๆ อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน สิ่งหนึ่งที่ผมนำมาคิดและพยายามจะทำก็คือ การลดอัตตาของตัวเอง คือ ลดความคิดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง, ลดความคิดที่ว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น, ลดความคิดเรื่องตัวกู ของกู, เห็นอกเห็นใจและแบ่งปันให้ผู้อื่นมากขึ้น วิธีการของอาจารย์ประมวลเป็นเหมือนการบังคับให้ตัวเองต้องลดอัตตาไปในตัว เพราะการเข้าไปพบปะสังคมใหม่ๆ ย่อมต้องเข้าไปอย่างเป็นมิตร, นอบน้อม, เปิดกว้าง และไม่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น อีกทั้งอาจารย์ไปแบบไม่มีอะไรติดตัว ความคิดเรื่องตัวกู ของกู ก็น้อยลงไป ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นทางลัดในการลดอัตตาที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวและความพยายามที่ไม่ธรรมดาเลย ยอมรับว่า ผมยังไม่มีพลังใจสูงขนาดนั้น และ ไม่มีความคิดที่จะทำ ถึงแม้จะนับถือในความมุ่งมั่น และชื่นชมวิธีการของอาจารย์มากๆก็ตาม อันที่จริง ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม พยายามลดอัตตาลง สังคมคงน่าอยู่ขึ้นอีกมาก แต่บางครั้งหน้าที่การงานก็ทำให้การลดอัตตาเป็นไปได้ยากอย่างไม่รู้ตัว ยกกรณีตัวอย่างแบบสุดโต่งก็เช่น การทำหน้าที่ของทนายความ ที่จะต้องพยายามให้คนอื่นเชื่อความคิดของฝ่ายตัวเอง และต้องไม่คล้อยตามความคิดของฝ่ายตรงข้ามเลย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในอาชีพของตนได้ ลักษณะหน้าที่แบบนี้มีอีกมากมายในระดับที่แตกต่างกัน ถ้าในระดับประเทศก็เช่น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล/ฝ่ายค้าน, มองในระดับที่ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย ก็เช่นแวดวงธุรกิจ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องมีการแข่งขันกัน จนบางครั้งเราก็พร้อมจะหลอกตัวเองโดยไม่รู้ตัวว่า ของเรานั้นดีกว่า, โจมตีคู่แข่ง, ปิดรับความคิดเห็นที่จะทำให้เราเสียผลประโยชน์ ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือพยายามบังคับให้ตัวเองคิดแบบนั้นก็ตาม ใกล้เข้ามาอีกนิด ภายในองค์กรเดียวกัน ต่างแผนกกัน ก็ต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของแผนกตัวเองก่อน หรือแคบเข้ามาอีกหน่อย แม้กระทั่งภายในแผนกเดียวกัน ระดับหัวหน้า / ลูกน้อง บางครั้งหัวหน้าก็ออกคำสั่งแบบเผด็จการหรือแสดงอำนาจ เพื่อการปกครอง, เพื่อให้ตัวเองดูดี, หรือเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าตนมีความสำคัญเหนือผู้อื่น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของอัตตาทั้งสิ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆสถานการณ์ อัตตาก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่ตัวเองมี แต่การปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้น ในบางครั้งกลายเป็นส่งเสริมให้เรามีอัตตาสูงขึ้น และไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆโดยไม่จำเป็น เช่น นักการเมืองตำแหน่งใหญ่โต ถ้าไม่ได้คิดจะสร้างภาพแล้ว ก็คงยากที่จะทำใจไปนั่งปูเสื่อกินข้าวกับคนบ้านนอก โดยไม่ยึดติดว่ากูเป็นใคร/มึงเป็นใคร แต่ก็นั่นแหละ หลายๆครั้งมันก็ยากที่จะบอกว่าจำเป็นหรือไม่ ในขณะหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ซึ่งก็จะส่งผลดี คือ ทำให้เราได้สลายกำแพงกั้นระหว่างตัวเรากับผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่การกระทำนั้นจะส่งผลกระทบในอนาคตหรือเปล่า เช่น อาจจะทำใหกฎเกณฑ์ภายในองค์กรหย่อนยานลงไปและทำให้ปกครองควบคุมลำบาก แล้วถ้างั้นเพื่อความมั่นคงของธุรกิจ หรือ หน้าที่การงานของเรา เราก็ควรมีอัตตาไว้ก่อนแม้บางครั้งอาจจะดูไม่จำเป็นหรือ? บางครั้งผมก็ยังสับสนอยู่ว่า จุดสมดุลของอัตตากับความจำเป็นในหน้าที่นั้นควรจะอยู่ตรงไหน ก็ยังโชคดีอยู่ที่ตัวผมเองไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตอะไรที่ไหน เลยคิดว่า การพยายามลดอัตตาของตัวเองน่าจะทำได้ง่ายกว่า ที่ทำได้เลยและพยายามทำอยู่ก็คือ สำรวจความคิดตัวเองก่อนทำ และคอยคิดทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆว่า เรามีวิธีการอื่นสำหรับสถานการณ์นั้นอีกไหม ที่จะทำให้สอดคล้องกับความพยายามที่จะลดอัตตา และเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองไปพร้อมๆกัน
ดร.อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล ผู้จัดการฝ่ายผลิต บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 2 ฉบับที่ 28/ กรกฎาคม 2551 |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (1535) | |
เป็นแง่คิดที่น่าสนใจมากครับ พอผมได้อ่านถึงวิธีคิดของอาจารย์ประมวลแล้วรู้สึกทึ่ง และเกิดสนใจหนังสือเล่มนี้มาก ๆ เลยอยากทราบว่าราคาประมาณเท่าไรครับ แล้วหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Gm7 วันที่ตอบ 2008-12-15 17:41:31 |
ความคิดเห็นที่ 2 (1607) | |
ขออภัยที่ตอบช้าครับ คุณ Gm7 หนังสือเล่มนี้หาได้ตามร้านหนังสือทั่วไปครับ เล่มละประมาณสองสามร้อยบาทนี่แหละครับ ส่วนตัวผมซื้อจากร้านซีเอ็ด ซื้อไปสามสี่เล่มแล้วให้คนใกล้ตัว ล่าสุดรู้สึกจะพิมพ์ครั้งที่ 9 แล้วครับ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น อภิชาติ วันที่ตอบ 2009-01-07 13:00:04 |
[1] |