ReadyPlanet.com




Punching+Laser Combination

 

                 ที่ผ่านมานั้น เราคุยกันเรื่องวิธีการผลิตชิ้นงานโลหะแผ่นและข้อดีข้อเสียของวิธีการทั้ง 4 ประเภทคือ Plasma, Laser, Punching และ Waterjet  คราวนี้เรามาดูเครื่องลูกผสม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และเป็นนวัตกรรมของการผลิตชิ้นงานโลหะแผ่น เครื่องที่ว่านี้เป็นเครื่องจักรรุ่นใหม่ของบริษัท Amada ซึ่งได้นำเอาข้อดีของกระบวนการปั๊มเจาะแบบ Punching และกระบวนการตัดแบบ Laser เข้าไว้ด้วยกันในเครื่องเดียว เครื่องรุ่นนี้คือ EML3510NT ครับ

ข้อดีของ Punching คือ สามารถเจาะรูได้อย่างรวดเร็วและปั๊มขึ้นรูปบนชิ้นงานได้ สามารถทำ Forming, Tapping ได้ ในขณะที่ข้อดีของ Laser คือ สามารถตัดชิ้นงานได้หลากหลายรูปแบบ การนำข้อดีทั้งสองข้อนี้มารวมกันในเครื่องเดียวทำให้ชิ้นงานที่ปกติต้องผ่านทั้งสองกระบวนการก็สามารถจบได้ในเครื่องเดียวซึ่งก็ทำให้ประหยัดเวลาขึ้นงาน, ตั้งเครื่อง, ขนย้าย และพื้นที่จัดเตรียมชิ้นงาน/พื้นที่สำหรับเครื่องจักร อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนบุคลากรที่มาปฏิบัติงานหน้าเครื่องด้วย

คราวนี้ ลองมาดูสเปคเครื่องกันสักหน่อยครับ

เครื่องรุ่นนี้ถ้าแยกออกมาเป็นสองเครื่อง ก็พอจะเทียบได้กับเครื่อง punching รุ่น EM Z 3510NT กับเครื่องเลเซอร์รุ่น Alpha LC-1212III ในส่วนของ Punching จะใช้ระบบขับหัวตอกแบบมอเตอร์ไฟฟ้า มีกำลังกด 30 ตัน เจาะวัสดุได้หนาสุด 3.2mm ความคลาดเคลื่อนของ punching +/- 0.1mm สามารถรองรับแผ่นงานขนาดใหญ่สุดได้ 3070mm x 1525mm สามารถทำเกลียวได้โดยใส่ดอกต๊าปได้ 4 ตัว (M2.6-M6)ในส่วนของ Laser จะใช้คอนโทรลเลอร์ของ Fanuc และออสซิเลเตอร์ขนาด 4.0KW ระบบการตัดจะเป็นแบบโต๊ะเลื่อนคือ หัวตัดเลเซอร์จะเคลื่อนที่ในแนวแกน Y ส่วนแผ่นเหล็กจะเคลื่อนที่ตามแนวแกน X มีระบบเซ็นเซอร์หัวตัด HS-2003 ช่วยรักษาระยะห่างระหว่างหัวตัดและชิ้นงานให้คงที่โดยอัตโนมัติ  สามารถรองรับงานขนาดใหญ่สุดได้ 2500mm x 1270mm โต๊ะเป็นโต๊ะขนแปรงช่วยป้องกันรอยบนผิวด้านล่างของชิ้นงานและสามารถยกระดับขึ้นขณะที่แผ่นเหล็กเคลื่อนที่ได้เพื่อป้องกันแผ่นเหล็กเกี่ยวชนกับ Die

สำหรับจุดด้อยของการรวมสองเครื่องไว้ด้วยกัน ก็คล้ายๆกับผลิตภัณฑ์ Hybrid อื่นๆ เช่น ถ้าเครื่องเกิด breakdown ขึ้นมา การผลิตก็ต้องหยุดทั้งสองกระบวนการ และในส่วนของราคา ก็ถือว่าค่อนข้างสูง จนแทบจะพอซื้อเครื่อง Punching กับ Laser แยกเครื่องได้เลย ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า ถ้าแยกเป็นสองเครื่องแล้วทำงานไปพร้อมๆกันจะเร็วกว่าทำทั้งหมดในเครื่องเดียวจบหรือไม่  ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน,ความซับซ้อน, จำนวนชิ้นงาน ซึ่งก็คงต้องมาศึกษาเวลาที่ใช้ทั้งหมดแล้วมาพิจารณาเป็นกรณีๆไป

 

 

 

สำหรับท่านที่สนใจก็ลองเข้าไปดูที่เวบไซต์ของ amada ได้ครับ ที่ www.amada.com ซึ่งเป็นเวบไซต์ของ amada USA ผมลองเข้าไปดูใน www.amada.co.th ยังไม่มีการแนะนำเครื่องรุ่นนี้ แต่ถ้าสนใจก็ลองติดต่อกับทางบริษัท Amada (Thailand) ตามที่อยู่ในเวบไซต์ได้ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

 

 

ดร.อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

ผู้จัดการฝ่ายผลิต บจก. พี แอนด์ เอส สเตนเลสสตีล เซ็นเตอร์

ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อนสเตนเลส ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 / มิถุนายน 2550







แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล