ReadyPlanet.com




การประมาณราคางานผลิตตามแบบ

งานสแตนเลสสั่งทำ ตัดสแตนเลส ตัดพับเหล็ก

วิธีประมาณราคางานสั่งทำแสตนเลส / งานผลิตตามแบบ

 

 

วิธีประมาณราคางานสั่งทำ/งานผลิตตามแบบ

 

 

เวลาที่ผมหาสินค้าหรือบริการที่ผมไม่คุ้นเคยในอินเตอร์เน็ท สิ่งหนึ่งที่ผมขัดใจคือ ประมาณราคาไม่ถูกเพราะไม่เคยซื้อหรือใช้บริการมาก่อน และทางเว็บไม่มีราคาบอกไว้ แต่ก็อยากจะได้ราคาคร่าวๆให้พอมีไอเดียในการมาคิดต้นทุน

งานลักษณะนี้มักจะเป็นงาน custom made คือ งานสั่งทำสแตนเลส ผลิตตามแบบหรือตามความต้องการลูกค้า มีรายละเอียดในแต่ละงานไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถบอกราคาได้ ในแวดวงงานโลหะสั่งทำ เท่าที่ผมหาดูก็ไม่เคยเห็นใครบอกวิธีประมาณราคาให้มาก่อนเลย และคิดว่า การประมาณราคาได้ด้วยตัวเองน่าจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าที่เข้ามาดูเว็บอยากจะทราบเป็นอันดับต้นๆ

การคิดราคางานงานสั่งทำสแตนเลสผลิตตามแบบมีหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง แต่ละที่ก็มีวิธีคำนวณแตกต่างกันไป ในที่นี้ผมจะอธิบายหลักการคิดราคาของโรงงานเราคือ P&S Stainless Steel Center ให้พอเป็นแนวทางนะครับ

คำว่า งานผลิตตามแบบ ในบริบทของโรงงานเราเป็นงานโลหะแผ่น ซึ่งก็คือ งานที่มีการประกอบ เจียร์ ขัด แต่งชิ้นงาน ทำสี งานของเราค่อนข้างหลากหลาย อาทิเช่น เครื่องจักรอุตสาหกรรม อุปกรณ์สำหรับเดินระบบ ตู้คอนโทรล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น โจทย์จากลูกค้าคือ แบบ drawing และสเปควัสดุ, รายละเอียดต่างๆ เช่น tolelance, แนวเชื่อม, จุดขัดที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีผลต่อการคิดราคาตามแบบ คือ

1. ราคาวัสดุต่อกก.

2. น้ำหนัก

3. จำนวนที่สั่ง

4. กระบวนการในการผลิต

5. ความยากง่ายในการผลิต


สามข้อแรก ค่อนข้างจะตรงไปตรงมานะครับ คือต้องแกะแบบออกมาแล้วคำนวณว่า งานทั้งหมดใช้วัสดุทั้งหมดเท่าไหร่ แม้ว่าค่าวัสดุจะเป็นต้นทุนแปรผัน (ต้นทุนสูงขึ้นตามจำนวน) แต่หากสั่งจำนวนเยอะค่าวัสดุต่อหน่วยจะลดลงไปพอสมควรเนื่องจากสามารถจัดเรียงแผ่นให้เสียเศษวัสดุได้น้อยกว่า


มาดูข้อที่ 4 ครับ กระบวนการในการผลิต - งานโลหะของ P&S เน้นงานโลหะแผ่นเป็นหลัก กระบวนการที่งานส่วนใหญ่จะต้องผ่านก็คือ ตัดเลเซอร์และพับ ในส่วนของการคิดราคา
งานตัดเลเซอร์และงานพับเรามีสูตรการคำนวณอยู่แล้ว (ดูวิธีการคำนวณราคางานตัดเลเซอร์ได้ที่ ตัวอย่างราคาค่าตัดเลเซอร์ ) ขั้นตอนที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละงานคือ วีคัท  เชื่อม ขัดเจียร์ ทำสี 

4.1 วีคัท - คิดตามจำนวนเส้นที่ต้องวีคัทในแต่ละงาน 

4.2 เชื่อม - คิดตามความยาวของแนวเชื่อม 

4.3 ขัดเจียร์ - ส่วนนี้จะต้องดูเป็นกรณีไป เพราะแต่ละงานต้องการความละเอียดไม่เท่ากัน งานเหล็กก็จะต่างจากงานสแตนเลส

4.4 ทำสีโลหะ - คิดเป็นตารางเมตรของพื้นที่ที่ต้องพ่นสี

แต่ละขั้นตอนก็จะมีตารางสำหรับคำนวณราคาของแต่ละวัสดุ

นอกจากนี้ อาจจะมีขั้นตอนพิเศษตามความต้องการลูกค้าอื่นๆ เช่น ต๊าปเกลียว, ติด backing ไม้, ลบคม, ยิง stud, ยิง rivet, ติดอุปกรณ์อื่นๆเพิ่ม ฯลฯ ขั้นตอนพิเศษเหล่านี้ก็จะคิดเพิ่มเป็นกรณีไป

ข้อที่ 5 ความยากง่ายในการผลิต ในการผลิตงานแต่ละงานมีความยากง่ายไม่เท่ากัน ตั้งแต่การเขียนแบบไปจนถึงงานประกอบ ความยากเหล่านี้อาจจะมาจากเทคนิคการผลิต, น้ำหนักชิ้นงาน, ค่า tolerance, ความประณีต ฯลฯ ช่างที่มีประสบการณ์สูงจะบอกได้ตั้งแต่ก่อนผลิตว่า งานนี้จะเสียเวลาที่ขั้นตอนไหน จะเกิดปัญหาตรงไหน ควรป้องกันหรือแก้ปัญหาอย่างไร บ่อยครั้งที่เราเสนอแนวทางให้ลูกค้าว่า ควรปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้ประหยัดต้นทุน/เวลาโดยยังรักษาคุณภาพไว้ได้ เพราะในฐานะผู้ผลิตแล้วเราย่อมมีความชำนาญเรื่องเครื่องจักรและเทคนิคการผลิตมากกว่า เมื่อเคลียร์แบบกับลูกค้าแล้ว สุดท้ายความยากง่ายในการผลิตจะถูกตีออกมาเป็นจำนวนชั่วโมงการทำงานเพื่อนำไปคิดต้นทุนค่าแรงในการผลิต


อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจว่ารายละเอียดงานผลิตตามแบบมันเยอะมากจริงๆนอกจากจะต้องไปวุ่นวายกับตัวเลขหลายตัวแล้ว ยังมีปัจจัยบางตัวที่ไม่สามารถระบุเป็นสูตรให้ได้อีก แต่ท่านผู้อ่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วผมต้องให้อะไรสักอย่างไปประมาณราคาแล้วล่ะครับ


ผมขอสรุปเป็นสูตรการประมาณราคางานโลหะผลิตตามแบบให้เป็น range คร่าวๆ แบ่งตามประเภทงานต่างๆ ตามนี้ครับ



ประเภทงาน

วัสดุ

ตัวคูณ (จากราคาค่าวัสดุของชิ้นงาน)

อุปกรณ์อุตสาหกรรม

เหล็กพ่นสีฝุ่น

2.0-2.6

 

สแตนเลส (ไม่ทำสี)

2.4-3.0

เฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่ง

เหล็กพ่นสีฝุ่น

2.4-3.0

 

สเตนเลส (ไม่ทำสี)

2.6-3.2

 

สเตนเลสสี (ชุบ pvd)

3.0-3.5

ตู้คอนโทรล กล่องคอนโทรล

เหล็กพ่นสีฝุ่น

2.2-2.8

 

สเตนเลส (ไม่ทำสี)

2.4-3.0



ตัวอย่าง ตู้ Chiller เป็นเหล็กพ่นสีฝุ่น ถ้าน้ำหนักตู้ประมาณ 15 kg

ราคาค่าวัสดุจะคำนวณจาก ราคาวัสดุต่อกก.* นน.วัสดุ/ชิ้น  

ราคาเหล็กประมาณ 22 บาท/kg 

ตามตัวอย่างนี้ ค่าวัสดุจะเท่ากับ 22*15  = 330

ตามตาราง งานลักษณะนี้ เป็นเหล็กพ่นสีฝุ่น ตัวคูณจะอยู่ที่ 2.2-2.8 ราคาก็จะตกประมาณ 726 - 924 บาทต่อตู้

ทั้งนี้ราคาสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับจำนวนที่สั่งด้วย สั่งจำนวนเยอะราคาต่อหน่วยก็จะลดลงไปเยอะ หลายครั้ง ลดไปถึง 20-30% เมื่อเทียบกับสั่งไม่กี่ตัว


ตัวคูณในตารางนี้ เป็นตัวเลขที่ผมประมาณจากข้อมูลการเสนอราคาที่เราเคยทำมากว่า 15 ปีครับ คือ พอเรามีข้อมูลมากพอ จะพอจับหลักได้ว่า งานประเภทนี้จะมีการตัดพับเชื่อมประมาณนี้ มีความละเอียดประมาณนี้ ทำให้พอจะสรุปเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้คร่าวๆ ตัวเลขตรงนี้มากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ครับ


- ต้นทุนค่าวัสดุในส่วนที่เป็นเศษที่เสียไปในระหว่างการผลิต

- ต้นทุนค่าอุปกรณ์สิ้นเปลือง เช่น หัวนอซเซิล, ลวดเชื่อม, ใบเจียร์, ใบเลื่อย 

- ต้นทุนค่าโสหุ้ยต่างๆ เช่น ค่าน้ำ, ไฟ, แก๊ส

- ต้นทุนค่าเสื่อมอุปกรณ์และเครื่องจักร, อาคาร 

- ต้นทุนค่าแรงทีมงานในการเคลียร์แบบ ประสานงาน รันเครื่อง ตรวจสอบ จัดส่ง

- ต้นทุนจิปาถะอื่นๆ เช่น วัสดุแพ็คของ, วัสดุทำความสะอาด

 


ซึ่งในแต่ละงานจะมีค่าต่างๆเหล่านี้ไม่เท่ากัน วัสดุที่ต่างกันอย่างเหล็กกับสแตนเลส ก็จะมีต้นทุนต่างกัน เช่น แก๊สที่ใช้ตัดเหล็ก(ออกซิเจน)จะถูกกว่าสแตนเลส(ไนโตรเจน)มาก, อายุการใช้งานใบเจียร์ใบเลื่อยสำหรับสแตนเลสก็จะใช้ได้สั้นกว่าสำหรับเหล็ก, การเก็บงานสแตนเลสก็ทำได้ยากกว่าเหล็กมาก เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ต้นทุนที่ดูเหมือนว่าน่าจะเท่ากัน แต่จริงๆแล้ว มีเหตุผลที่ทำให้ราคาต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขพอให้ประมาณคร่าวๆนะครับ แต่ผมคิดว่า คงมีกรณีไม่มากนักที่จะหลุดไปจาก range นี้ ถ้าต้องการราคาที่แม่นยำ ฝ่ายขายเรายินดีให้บริการทุกท่านครับ ติดต่อได้ทั้งทาง Facebook, Line, email, โทรศัพท์ ตามหน้าเว็บได้เลยนะครับ

 

 

ดร.อภิชาติ ชยานุภัทร์กุล

Managing Director